5 ความท้าทายสำคัญ ที่ทำให้การ “Work From Home” ไม่ได้ผลอย่างที่คิดไว้
Work From Home (WFH) คือ การเปลี่ยนสถานที่การทำงานจากที่ office ไปเป็นการทำงานจากที่บ้านนั้น ถือเป็นความท้าทายสำหรับใครหลาย ๆ คน ซึ่งในช่วงสถานการณ์นี้ ความเครียดของคนทำงานกำลังอยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา (พนักงานกว่า 69 เปอร์เซ็นต์กำลังเผชิญกับสภาวะหมดไฟในการทำงาน) ได้ส่งผลต่อสุขภาพจิตและ Productivity ของการทำงานของพนักงานโดยตรง การทำงานที่บ้านนี้ไม่ใช่การทดลองระยะสั้นที่พนักงานจะขอสละสิทธิ์ออกไปเมื่อไรก็ได้ ซึ่งในขณะที่แต่ละองค์กรกำลังมองหาเครื่องมือและแพลตฟอร์มที่ดีเพื่อให้ความช่วยเหลือพนักงานของพวกเขา ทัศนคติของพนักงานกลับกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร็วที่สุด
“การทำงานที่บ้านนี้ไม่ใช่การทดลองระยะสั้นที่พนักงานจะขอสละสิทธิ์ออกไปเมื่อไรก็ได้”
ณ ตอนนี้ พนักงานหลายคนกำลังเผชิญกับความรู้สึกแปลกแยกและไม่สามารถจดจ่อกับการทำงานได้ดีพอ จริงอยู่ที่บางคนอาจสนุกกับการได้นั่งทำงานเพียงลำพัง แต่ยังมีอีกหลายคนที่รู้สึกเหมือนกำลังหลงทางและกระวนกระวายใจ เพราะการทำงานที่บ้านทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเริ่มเลือนลาง อีกทั้งพวกเขายังไม่สามารถ “กลับบ้านไปชาร์จพลัง” และกลับมาทำงานในวันรุ่งขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนที่เคยเป็นมา
ความท้าทายหลักที่องค์กรและพนักงานเผชิญอยู่นั้น ได้แก่:
- ความเข้าใจในแนวทางขององค์กร (Company Alignment)
- การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ (Building and Maintaining Relationships)
- ความผ่อนคลายในการทำงานของพนักงาน (Employee Wellness)
- การสร้างความเป็นทีม (Community Building)
- แรงจูงใจของพนักงาน (Motivation)
เข้าใจในแนวทางขององค์กร (Company Alignment)
เรื่องของความเข้าใจในแนวทางขององค์กรถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมากพออยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด เพราะการทำให้พนักงานเข้าใจถึงเป้าหมายขององค์กร, ของทีม, หรือของตัวเอง และประคับประคองให้พวกเขาเดินไปในทิศทางที่มีเป้าหมายเดียวกันนั้นถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง หลายองค์กรจึงเลือกใช้วิธีการแบบอไจล์ (Agile) หรือเครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและการกำหนดตัววัดผล (Objective and Key Results: OKRs) เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางขององค์กร
แล้วการทำเช่นนั้นได้ผลหรือไม่ คำตอบคือ ได้ผลแค่บางครั้งเท่านั้น เพราะสิ่งที่ขาดหายไปคือทัศนคติแห่งการเติบโต (Growth Mindset) รวมไปถึงความสมัครใจ และความสามารถในการให้และรับฟีดแบ็กนั่นเอง หากต้องการให้เกิดความเข้าใจในแนวทางขององค์กรร่วมกัน ทุกคนจำเป็นต้องสื่อสารให้เกิดภาพของกระบวนการทำงานที่บอกได้ถึงความก้าวหน้า, อุปสรรค, และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และในเวลาที่เหมาะสม
ในช่วงวิกฤติโรคระบาดนี้ยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว พร้อมทั้งพิจารณาแผนการดำเนินธุรกิจของตัวเองอีกครั้ง เพื่อให้ได้วิธีการที่แตกต่างภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดมากขึ้น รวมไปถึงการสื่อสารที่ต้องทำให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งความคาดหวังของพนักงานก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจในแนวทางขององค์กรจึงสำคัญมากกว่าที่เคย
ผลที่ได้: ประสิทธิผลในการทำงานเพิ่มขึ้น
การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ (Building and Maintaining Relationships)
การทำงานที่บ้านส่งผลให้เกิดช่องว่างทางการสื่อสารขนาดใหญ่ แต่นั่นไม่ได้เป็นเพราะว่าเราขาดเครื่องมือในการสื่อสารกัน แต่เป็นเพราะรูปแบบและพฤติกรรมการสื่อสารของเราได้เปลี่ยนไปแล้วต่างหาก ซึ่งใครหลายคนก็ยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร และแม้ว่าภาระงานกำลังเพิ่มมากขึ้น การสร้างความสัมพันธ์กลับเป็นองค์ประกอบแรกของชีวิตการทำงานที่ได้รับผลกระทบ เพราะเราไม่มีเวลามากพอจะทำมันนั่นเอง
ความสัมพันธ์สำคัญต่อประสิทธิผลในการทำงานและความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เราเข้าใจ หากปราศจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น พนักงานจะรู้สึกไม่สบายใจและไม่พร้อมที่จะแบ่งปันหรือรับฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา ลองถามตัวเองดูว่า เราอยากจะรับฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมาจากใครสักคนที่เราแทบไม่รู้จักเลยหรือเปล่าล่ะ
ความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เราสามารถรับมือกับความผิดพลาดโดยไม่ตื่นตระหนกหรือก่อให้เกิดผลร้ายตามมาโดยที่เราไม่ตั้งใจ อีกทั้งผู้จัดการและลูกทีมจะสามารถให้ฟีดแบ็กกันอย่างตรงไปตรงมา การสื่อสารจะเป็นไปอย่างโปร่งใส เปี่ยมไปด้วยความหมายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผลที่ได้: ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น
การสร้างความเป็นทีม (Community Building)
การสร้างความเป็นทีมคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นความร่วมมือภายในที่ทำงาน เพราะผลงานชิ้นโบว์แดงไม่ได้เกิดจากคนเพียงคนเดียว อีกทั้งการทำงานร่วมกันยังจำเป็นต้องอาศัยกลุ่มคนที่มีความพร้อมและมีการมอบหมายงานให้กับคนกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม
กิจกรรมนอกสถานที่เป็นวิธีการโดยทั่วไปที่องค์กรใช้สร้างเครือข่าย (network) และพัฒนาความสัมพันธ์ของคนในทีม หรือในองค์กรให้เหนียวแน่นขึ้น แต่ด้วยวิกฤติโรคระบาดนี้ทำให้กิจกรรมเหล่านั้นต้องยุติไปชั่วคราว การสร้างความเป็นทีมผ่านโลกออนไลน์จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาทดแทนกันได้ แต่กระนั้นก็ต้องอาศัยความพยายามและพลังงานจากหัวหน้าทีมที่ก็แทบจะหมดเรี่ยวแรงไปกับการรับมือเรื่องอื่นๆ แล้วเหมือนกัน
ผลที่ได้: ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรเพิ่มมากขึ้น
ความผ่อนคลายในการทำงานของพนักงาน (Employee Wellness)
สุขภาพจิตของพนักงานกำลังตกต่ำลง และที่แย่ไปกว่านั้นคือ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ สภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดขึ้นเป็นปกติกับคนเก่งที่มีพรสวรรค์อันโดดเด่น นั่นเป็นเพราะนอกเหนือจากการทำงานแล้ว พวกเขายังถูกตั้งความหวังให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย โดยอาการของผู้ที่มีสภาวะหมดไฟในการทำงานอาจมีได้ดังนี้
- พลังงานและประสิทธิผลในการทำงานลดลง
- แรงจูงใจในการทำงานน้อยลง
- ความผิดพลาดในการทำงานเพิ่มมากขึ้น
- ความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ความรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย
การที่พนักงานจะมีความผ่อนคลายในการทำงาน (Wellness) และความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการเฝ้าสังเกตและคอยสำรวจอย่างสม่ำเสมอ และผู้จัดการคือคนที่อยู่ในจุดที่ดีที่สุดในการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา ผ่านการทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น (เช่นอุปสรรคในการทำงาน หรือจากชีวิตส่วนตัว) และจัดแจงทรัพยากรที่จำเป็น รวมถึงเรียงลำดับภาระงานให้พวกเขาใหม่อีกครั้ง
ผลที่ได้: ความผ่อนคลายในการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้น
แรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน (Motivation)
วิธีการเดิมๆ ที่ผู้นำใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนเก่งที่มีพรสวรรค์อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ซึ่งหลายองค์กรมักใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานผ่านปัจจัยภายนอก (Extrinsic Motivation) (ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน, เงินจูงใจผลงาน (incentive) , หรือเงินโบนัส) แต่เมื่อวิกฤติโรคระบาดทำให้องค์กรไม่สามารถจ่ายเงินจูงใจหรือโบนัสเพิ่มให้กับพนักงานได้ จะเกิดอะไรขึ้นกับแรงจูงใจในการทำงานของพวกเขากันล่ะ
แรงจูงใจที่มาจากปัจจัยภายใน (Intrinsic Motivation) อย่างเช่นการชื่นชมและการให้ความสำคัญถือเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะคำชมและการเห็นคุณค่าคือปัจจัยหลักที่ผลักดันคนเก่งที่มีพรสวรรค์ให้มีส่วนร่วมกับองค์กร และอาจมากกว่าที่ขอบเขตภาระงานของพวกเขากำหนดไว้เสียอีก การให้ความสำคัญและคำชมที่มีความหมายไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่หลายองค์กรก็ยังขาดแบบแผนและรูปแบบพฤติกรรมที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นสิ่งที่ควรหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างจริงจัง
ผลที่ได้: วัฒนธรรมองค์กรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพการทำงานที่ดี
การทดลองทำงานที่บ้านในครั้งนี้ก็เหมือนกับการทดลองอื่นๆ กล่าวคือต้องอาศัยการวัดผลและการลงมือทำเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ และเราจำเป็นที่จะต้องได้ผลตามที่ต้องการนี้ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าต่อไป เพราะแรงจูงใจและความสามารถของพนักงานจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรโดยตรง และภาวะผู้นำที่ให้ความสำคัญกับผู้คน (People-First Leadership) จะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในโลกแห่งวิถีใหม่ที่เต็มไปด้วยไปความเปลี่ยนแปลง
Happily.ai ช่วยสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรด้วยการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายในองค์กร ผ่านการวัดผลแบบเรียลไทม์และวิธีการจัดการคนในองค์กรด้วยข้อมูล (People Analytics) หากคุณต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือให้ฟีดแบ็กเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเรา โปรดอย่ารีรอที่จะติดต่อเรา!