Psychological Safety: กุญแจสำคัญในการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง

จากการศึกษาผลการทำงานของทีมด้านเทคโนโลยีของ Google แสดงให้เห็นว่าทีมที่มีประสิทธิภาพสูงมี 5 สิ่งที่เหมือนกัน และ 5 สิ่งนี้คือปัจจัยหลักของความสำเร็จในการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ประกอบไปด้วย ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ความไว้วางใจและเชื่อมั่นระหว่างกัน (Dependability) โครงสร้างและแผนการทำงานที่ชัดเจน (Structure & Clarity) ความหมายของงาน (Meaning of Work) และ ผลลัพธ์ของงานที่มีพลัง (Impact of Work) และมากไปกว่านั้น การศึกษานี้ยังได้ชี้ชัดว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดและยังเป็นพื้นฐานที่ส่งผลให้ปัจจัยอื่น ๆ ประสบความสำเร็จได้นั้นคือ ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ซึ่งอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าความเชื่อที่ว่าคุณจะไม่ถูกลงโทษเมื่อทำผิดพลาด

เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มักหลีกเลี่ยงการแสดงพฤติกรรมที่อาจส่งผลเสียต่อวิธีที่ผู้อื่นมองถึงความสามารถและความตระหนักรู้ของเรา แต่กลไกลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินี้ส่งผลเสียต่อการทำงานเป็นทีมเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อสมาชิกในทีมรู้สึกไม่ปลอดภัยทางจิตใจ พวกเขาจะมีความกังวลหรือหวั่นวิตกเมื่อต้องแสดงความคิดเห็นในที่ทำงาน และมักจะไม่กล้านำเสนอไอเดียใหม่ ๆ เนื่องจากกลัวว่าความคิดเห็นของพวกเขาจะถูกวิจารณ์ว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ หรือถ้านำเสนอไปแล้วอาจจะทำให้ตนเองต้องรู้สึกอับอาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการทำงานเป็นทีม ในทางกลับกัน คนที่มีความปลอดภัยทางจิตใจมักจะรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันข้อเสนอแนะ ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน หรือท้าทายสภาพที่เป็นอยู่โดยไม่กังวลถึงคำวิจารณ์หรือผลกระทบทางสังคมในเชิงลบ ความปลอดภัยทางจิตใจจะนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมที่รวดเร็วและส่งผลให้องค์กรสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดีมากยิ่งขึ้น

บรรยากาศในเชิงบวกของทีมและความปลอดภัยทางจิตใจ

การศึกษาของ McKinsey พบว่าบรรยากาศในเชิงบวกของทีม (Positive Team Climate) ซึ่งมีสมาชิกในทีมที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของกันและกัน แสดงความห่วงใยซึ่งกันและกัน และเข้าใจในบทบาทของสมาชิกแต่ละคนในการทำงานของทีม เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดในการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจ และสิ่งนี้มักจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้นำแสดงพฤติกรรมที่สนับสนุนคนในทีมและให้คำปรึกษากับพวกเขา ผู้นำสามารถสร้างความปลอดภัยทางจิตใจด้วยการสร้างบรรยากาศและพฤติกรรมที่เหมาะสมภายในทีมของตน

การศึกษายังพบว่ามีพฤติกรรมความเป็นผู้นำอย่างหนึ่งที่สามารถเสริมสร้างความปลอดภัยทางจิตใจได้ก็ต่อเมื่อมีบรรยากาศในเชิงบวกของทีมเท่านั้น นั่นก็คือ ภาวะผู้นำที่ท้าทาย (Challenging Leadership) ผู้นำที่ท้าทายจะผลักดันให้สมาชิกในทีมท้าทายความสามารถของตนเองโดยการส่งเสริมให้พวกเขาทบทวนความคิดเห็นที่มีต่องานของพวกเขาอีกครั้งและหาวิธีดำเนินการเพื่อให้ผลงานออกมาเกินความคาดหมายและบรรลุศักยภาพของตนเอง ภาวะผู้นำที่ท้าทายนั้นจะช่วยให้พนักงานแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ รู้สึกมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง และพยายามเรียนรู้และปรับปรุงตนเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ความปลอดภัยทางจิตใจจะเกิดขึ้นสูงสุดนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่อหัวหน้าทีมสร้างบรรยากาศในเชิงบวกให้กับทีมเป็นอย่างแรก โดยผ่านการสนับสนุนและให้คำปรึกษาสมาชิกในทีม และหลังจากนั้นจึงเริ่มมอบหมายงานที่มีความท้าทายให้สมาชิกในทีม หากปราศจากรากฐานของบรรยากาศเชิงบวกของทีม การเป็นผู้นำที่ท้าทายก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางจิตใจเท่าที่ควร

ผู้นำสร้างความปลอดภัยทางจิตใจได้อย่างไร

จะเห็นได้ว่าผู้นำมีบทบาทที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสร้างบรรยากาศในเชิงบวกให้กับทีม หรือการเสริมสร้างความปลอดภัยทางจิตใจเพื่อผลักดันให้ทีมของตนเป็นทีมที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพสูง และนี่คือข้อแนะนำสำหรับผู้นำในการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้กับสมาชิกในทีม

1. แสดงให้เห็นถึงความสนใจและใส่ใจสมาชิกในทีม

ผู้นำควรเป็นตัวอย่างของการเป็นผู้ฟังที่ดีเมื่อสมาชิกในทีมกำลังนำเสนอในสิ่งต่าง ๆ โดยการฟังอย่างตั้งใจ ไม่เปิดคอมพิวเตอร์หรือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาระหว่างการประชุม และถามคำถามด้วยความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากสมาชิกในทีม

2. แสดงความเข้าใจแทนการตำหนิ

เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นผู้นำจะต้องพูดถึงพฤติกรรมหรือสิ่งที่เป็นปัญหาด้วยการใช้ภาษาที่เป็นกลาง การตำหนิจะทำให้เกิดความขัดแย้งในทีมมากยิ่งขึ้น ผู้นำควรจะมุ่งเน้นไปที่วิธีในการแก้ไขปัญหาแทนที่จะตำหนิหรือกล่าวโทษสมาชิกในทีม

3. เป็นผู้นำแบบครอบคลุมและเข้าถึงได้

ผู้นำควรทำให้สมาชิกในทีมรู้สึกมีส่วนร่วมในทุก ๆ ด้านของการทำงานโดยการแชร์ข้อมูลและการตัดสินใจในการทำงานอย่างเปิดเผย ให้เวลาสำหรับการสนทนาแบบตัวต่อตัว ขอฟีดแบ็กจากสมาชิกในทีม และให้คำปรึกษากับพวกเขา

4. แสดงความมั่นใจ

สมาชิกในทีมจะมีความมั่นใจในงานของพวกเขาก็ต่อเมื่อมีผู้นำทีมที่แสดงความมั่นใจก่อนเพราะผู้นำคือตัวแทนของทีม อย่างไรก็ตาม การแสดงความมั่นใจไม่ใช่การยึดความคิดของตนเป็นหลัก ผู้นำควรเปิดรับความคิดเห็นของสมาชิกในทีมและสนับสนุนให้พวกเขากล้าที่จะท้าทายและยอมรับความเสี่ยงอย่างมั่นใจ

5. ประเมินความปลอดภัยทางจิตใจของสมาชิกในทีม

ผู้นำจะต้องถามสมาชิกในทีมอย่างสม่ำเสมอว่าพวกเขารู้สึกปลอดภัยในการทำงานมากแค่ไหน และอะไรจะทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการให้สมาชิกในทีมทำแบบสำรวจความปลอดภัยทางจิตใจที่มีคำถามเช่น “คุณมั่นใจแค่ไหนว่าคุณจะไม่ได้รับการตอบโต้หรือวิพากษ์วิจารณ์หากคุณทำผิดพลาด”

สำหรับผู้นำที่ต้องการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ผู้นำจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจได้ว่าสมาชิกในทีมของตนมีความปลอดภัยทางจิตใจ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผลักดันให้สมาชิกในทีมมีส่วมร่วมในการทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น มีแรงจูงใจในการจัดการกับปัญหาที่พบเจอ และเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของพวกเขา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นรากฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และความก้าวหน้าขององค์กร

เอกสารอ้างอิง

[1] https://rework.withgoogle.com/blog/five-keys-to-a-successful-google-team/

[2] https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/190703-psychological-safety/

[3] https://hbr.org/2017/08/high-performing-teams-need-psychological-safety-heres-how-to-create-it

[4] https://www.forbes.com/sites/googlecloud/2021/08/27/safe-space-how-psychological-safety-can-make-your-team-more-effective/?sh=441ec08a4231

[5] https://www.linkedin.com/posts/amedmondson_psychologicalsafety-activity-6902237907868884992-XGtV

[6] https://www.mckinsey.com/business-functions/people-and-organizational-performance/our-insights/psychological-safety-and-the-critical-role-of-leadership-development

[7] Photo by Priscilla Du Preez on Unsplash