การชื่นชมยอมรับ ของขวัญที่ส่งต่อกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในองค์กร
การศึกษาข้อมูลของเราพบว่า การได้รับการชื่นชมยอมรับจะทำให้พนักงานมองเห็นคุณค่าของความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับจากเพื่อนร่วมงาน และเป็นแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ให้การชื่นชมยอมรับแก่ผู้อื่นในที่สุด
เสริมสร้างวัฒนธรรมขององค์กรด้วยการชื่นชมยอมรับ (Recognition Culture)
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีเริ่มต้นจากการมีชุดค่านิยมร่วม (Shared Value) ที่ผ่านการตกตะกอนมาเป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นกระบวนการเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีผู้นำเป็นแม่แบบของการมีปฏิสัมพันธ์และการโต้ตอบกันของพนักงานภายในองค์กร แต่ด้วยการเติบโตของทีมและพื้นที่การทำงานที่แยกจากกัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนภายในองค์กรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม มากกว่าจะหวังพึ่งผู้นำเพียงแค่คนเดียว ด้วยเหตุนี้เอง การชื่นชมยอมรับจากเพื่อนร่วมงานจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ
การศึกษาข้อมูลก่อนหน้านี้ของเราทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างการได้รับการชื่นชมยอมรับและความสุขของพนักงาน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่เผยให้เห็นว่าการชื่นชมยอมรับนำมาซึ่งความมีส่วนร่วมภายในองค์กร ความสามารถในการรักษาพนักงานไว้ รวมถึงอื่นๆ อีกมากมาย การชื่นชมยอมรับจึงนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยม ใช้ต้นทุนเพียงน้อยนิด แต่กลับสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในเชิงธุรกิจ (Low-Cost & High-Impact Business ) ทั้งยังเป็นวิธีในการสร้างความเชื่อใจและเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานอีกด้วย ด้วยข้อดีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เหตุใด เราถึงยังไม่มีการนำการชื่นชมยอมรับมาปรับใช้ภายในองค์กรมากเท่าที่ควร
การชื่นชมยอมรับถือเป็นรูปแบบพฤติกรรมหนึ่ง เป็นนิสัยที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน อีกทั้งยังแตกต่างจากนิสัยอื่นๆ ที่เมื่อเวลาผ่านไป เราสามารถมองเห็นความคืบหน้าหรือความสำเร็จจากการทำนิสัยเหล่านั้นได้ แต่การชื่นชมยอมรับคือนิสัยที่กระทำเพื่อส่วนรวม และเป็นการลงแรงที่เราอาจจะไม่ได้รับอะไรกลับคืนมาเลยก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ หากไม่มีการย้ำเตือนหรือการส่งเสริมอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นการยากที่องค์กรจะได้ประโยชน์จากการชื่นชมยอมรับอย่างเต็มที่
จะเป็นอย่างไร หากการชื่นชมยอมรับมีคุณค่าที่จับต้องได้มากขึ้น หรือหากการชื่นชมยอมรับนำมาซึ่งภาพของความสำเร็จขององค์กรที่ชัดเจนขึ้น และจะดีแค่ไหน หากการชื่นชมยอมรับกลายเป็นเรื่องง่ายที่จะเรียนรู้และปฏิบัติ คำถามทั้งหมดนี้ Happily.ai มีคำตอบให้เรียบร้อยแล้ว และดูจะเป็นคำตอบในเชิงบวกอย่างมากอีกด้วย เพราะพนักงานมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ Happily.ai เป็นประจำ (คืออย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน) มีการให้การชื่นชมยอมรับกับเพื่อนร่วมงาน และที่มากไปกว่านั้น เรายังค้นพบว่า ผู้ที่ได้รับการชื่นชมยอมรับมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ให้การชื่นชมยอมรับกับผู้อื่นต่อไป นับว่าเป็นของขวัญที่ทุกคนในองค์กรส่งต่อให้กันไปอย่างไม่สิ้นสุดโดยแท้จริง
การศึกษาข้อมูลและผลลัพธ์
ข้อสันนิษฐาน: พนักงานที่ได้รับการชื่นชมยอมรับจะมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นฝ่ายให้การชื่นชมยอมรับแก่ผู้อื่น มากกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับการชื่นชมยอมรับมาก่อน
การศึกษาของเรา
เราทำการศึกษารูปแบบพฤติกรรมการให้การชื่นชมยอมรับของพนักงาน 246 คนในบริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจวิธีการและช่วงเวลาของการให้การชื่นชมยอมรับ ปฏิสัมพันธ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นใน Happily.ai ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่พนักงานใช้ในการให้การชื่นชมยอมรับกับเพื่อนร่วมงาน โดยพนักงานที่เข้าร่วมการทดลองจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ พนักงานที่ให้การชื่นชมยอมรับ โดยผ่านการได้รับการชื่นชมยอมรับจากผู้อื่นมาก่อน และพนักงานที่ให้การชื่นชมยอมรับกับผู้อื่น โดยที่ไม่เคยได้รับการชื่นชมยอมรับจากผู้อื่นมาก่อน
ผลลัพธ์จัดแสดงอยู่ในตารางด้านล่างนี้ ซึ่งเป็นตารางที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนพนักงานที่เข้าร่วมการทดลองในแต่ละกลุ่ม
เราพบว่าพนักงานกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการชื่นชมยอมรับ จะกลายเป็นฝ่ายให้การชื่นชมยอมรับแก่ผู้อื่น ในขณะที่มีเพียง 82 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่จะเป็นฝ่ายให้การชื่นชมยอมรับแก่ผู้อื่น ทั้งที่ไม่เคยได้รับการชื่นชมยอมรับมาก่อน
ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ พนักงานที่ได้รับการชื่นชมยอมรับมากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ ให้การชื่นชมยอมรับกับผู้อื่นภายในวันเดียวกันทันที แสดงให้เห็นว่าการชื่นชมยอมรับนี้เอง ที่เป็นแรงผลักดันให้พนักงานให้การชื่นชมยอมรับกับผู้อื่น
การมีเครื่องมือให้การชื่นชมยอมรับที่มีประสิทธิภาพ และใช้งานง่ายภายในองค์กรจะช่วยให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกแรงผลักดันนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรของคุณอย่างมหาศาล อีกทั้งการทำให้กิจกรรมของการชื่นชมยอมรับเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ภายในองค์กรจะช่วยให้เกิดพฤติกรรมแง่บวกในที่สุด อีกเรื่องหนึ่งคือ การเน้นย้ำและการ “สะกิด” เตือนถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการให้การชื่นชมยอมรับภายในองค์กรของคุณ
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการให้และรับการชื่นชมยอมรับ (Recognition)
การชื่นชมยอมรับมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ซึ่งคำชมที่ดีนั้น จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่การชื่นชมยอมรับที่ยอดเยี่ยมและมีประสิทธิภาพจะช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชื่นชมยอมรับที่สอดคล้องกับค่านิยมร่วมภายในองค์กร เพราะจะช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรของคุณมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
บทความของ Harvard Business Review ที่เขียนโดย Christopher Littlefield มองว่าการให้และรับการชื่นชมยอมรับคือฟันเฟืองที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ภายในที่ทำงาน นอกจากนี้ บทความยังให้แนวทางการรับและให้คำชมอีกด้วย โดยเมื่อเราได้รับคำชม สิ่งที่เราควรทำเป็นลำดับแรกคือการกล่าวคำขอบคุณ ก่อนที่จะพูดความรู้สึกอื่นใดออกไป แต่สิ่งที่เราควรทำ เมื่อต้องการให้การชื่นชมยอมรับกับใครสักคนคือ:
1.เป็นตัวของตัวเอง: การชื่นชมยอมรับจะเป็นผล ก็ต่อเมื่อผู้ให้มีความจริงใจที่จะมอบคำชมนั้นออกไป อย่าให้การชื่นชมยอมรับ เพียงเพราะคุณคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ “ต้อง” ทำ แต่ให้เพราะคุณต้องการจะบอกให้ใครสักคนรับรู้ถึงผลดีที่คุณได้รับจากการกระทำของเขา
Checklist: เพราะอะไร คุณจึงอยากที่จะมอบการชื่นชมยอมรับนี้ให้แก่เขา
2. ลงรายละเอียดในคำชม: เช่นเดียวกันกับการให้ฟีดแบ็ก เราควรที่จะต้องให้คำชมที่ชัดเจน ตรงประเด็น หรือหากมีตัวอย่างเสริมด้วยก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ผู้ได้รับคำชมไม่เกิดอาการตะขิดตะขวงว่าเพราะเหตุใด เขาจึงได้รับคำชมนั้น
Checklist: คุณมีประสบการณ์อย่างไร หรือได้พบเจออะไรมา (ที่ทำให้คุณอยากให้คำชมกับเขา)
3. เน้นที่กระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์: การให้ความสำคัญกับผลลัพธ์เพียงอย่างเดียวจะทำให้ผู้ได้รับการชื่นชมยอมรับคิดเพียงแต่จะทำให้ผลลัพธ์รูปแบบเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก แต่หากเรามุ่งเน้นความสำคัญไปที่กระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระยะเวลา ความเสียสละ ความทุ่มเท ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้กระทั่งความใส่ใจกับรายละเอียดของเนื้องาน จะทำให้ผู้ที่ได้รับคำชมนั้น มีแรงผลักดันในการใช้พฤติกรรมแง่บวกเหล่านี้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละโอกาสการทำงาน
Checklist: พวกเขามีกระบวนการทำงานอย่างไร ที่ทำให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่เห็น
4. แบ่งปันผลลัพธ์ดีๆ ที่เกิดขึ้น: คุณสามารถเพิ่มประสิทธิผลของการชื่นชมยอมรับที่มอบให้ใครสักคน ด้วยการบอกเล่าผลลัพธ์ที่ดีจากกระทำของเขา ที่เกิดขึ้นกับคุณหรือเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น บอกเล่าว่าความเป็นผู้นำของเขาสร้างผลดีต่อทีมอย่างไร การทำงานของเขามีส่วนช่วยผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร หรือจะเป็นทัศนคติที่น่าชื่นชมของเขาสร้างกำลังใจให้กับเพื่อนร่วมทีมได้มากขนาดไหน
Checklist: สิ่งที่เขาได้ทำส่งผลดีอย่างไรต่อทั้งคุณและเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
ข้อสรุป
วัฒนธรรมองค์กรถือเป็นผลพลอยได้จากค่านิยมองค์กรและพฤติกรรมของพนักงาน และการชื่นชมยอมรับคืออีกส่วนสำคัญภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เพราะการให้และรับคำชมแทบไม่ต้องใช้ต้นทุนใดๆ แต่กลับสร้างคุณค่ามหาศาลที่ออกมาในรูปแบบของความมีส่วนร่วมต่อองค์กรของพนักงาน ความเป็นอยู่ที่ดี ผลิตผลในการทำงานที่มากขึ้น และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ การศึกษาของเรายังแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับการชื่นชมยอมรับมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นฝ่ายให้การชื่นชมยอมรับแก่ผู้อื่นมากกว่าเดิม หากองค์กรมีระบบการชื่นชมยอมรับที่มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้แก่พนักงาน ผลักดันคนเก่งที่มีพรสวรรค์ และทำให้วัฒนธรรมองค์กรมีความแข็งแรงมากขึ้นไปอีก
Happily.ai เราคือแพลตฟอร์มที่ช่วยในการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของพนักงาน ผ่านการส่งเสริมให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมกับการชื่นชมยอมรับ การให้ฟีดแบ็ก การพัฒนาตนเอง และสิ่งดีๆ อีกมากมายที่เรามอบให้ผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพของเรา หากคุณพร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกภายในองค์กร เข้ามาหาเราที่ Happily.ai
เอกสารอ้างอิง
[3] https://elearningindustry.com/real-behaviour-change-impact-workplace