[Tisco Wealth] สร้าง Happily.ai เพื่อความสุขของคนทำงาน
เมื่อหัวใจขององค์กรคือ “คนทำงาน” และ “ความสุข” ของพนักงาน คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในธุรกิจ การดำเนินนโยบายขององค์กรจึงต้องควบคู่ไปกับการสร้างองค์กรแห่งความสุข ซึ่งเป็นที่มาของแอปพลิเคชัน Happily.ai เครื่องมือช่วยสร้าง Engagement ระหว่างพนักงานกับองค์กร โดยเกิดจากแนวคิดสุดสร้างสรรค์ของทายาทรุ่นที่ 5 แห่งสยามวาลา “ทรีฟ แจเฟอรี่” หนุ่มไฟแรงที่เลือกเส้นทางเดินตัวเองสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ เพราะเขาเชื่อมั่น “คน” เฟืองจักรชิ้นเล็กๆ นี้ สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการเติบโตของบริษัทได้
“คน” ทรัพยากรมีค่าที่สุดในองค์กร
ทรีฟ แจเฟอรี่ สยามวาลา ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน Happily.ai เล่าย้อนไปเมื่อครั้งเรียนที่ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT สหรัฐอเมริกา เขาศึกษาด้าน People Analytics และสนุกกับการเรียนรู้กระบวนวิชาที่เชื่อมโยงหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะ Human Psychology บวกกับทักษะด้านดีไซน์ จึงนำไปสู่แนวคิดริเริ่มการใช้พลังแห่ง People Science นำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชัน Happily.ai เครื่องมือสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานกับองค์กรที่เข้ามาช่วยสร้างสมดุลระหว่างการทำงานอย่างมีคุณภาพ และความสุขของพนักงาน
“จากงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์และ Productivity ของพนักงานมากกว่าทศวรรษบอกว่า ความสุขของพนักงานสำคัญมากๆ และมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสำเร็จขององค์กร ผมก็เคยเป็นพนักงาน ทำงานกับกูเกิลที่แคลิฟอร์เนียมาก่อน เลยทำให้เข้าใจดีว่าการสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมไม่ใช่แค่พื้นที่ทำงาน แต่คือการสร้างวัฒนธรรมการทำงาน และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีของคนในองค์กร สิ่งเหล่านี้มันสามารถเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ดีขึ้นเป็น 10 เท่า”
เมื่อการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ได้วัดที่ค่าชี้วัดทางการเติบโตเพียงด้านเดียว แต่ยังมองไปถึงความท้าทายในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับบริษัท ซึ่งตัวแปรสำคัญในการพัฒนา สิ่งเหล่านี้ก็คือ “คน” และการดึงศักยภาพของคนทำงานออกมาให้ได้ ย่อมตามมาด้วยความกดดัน ดังนั้น องค์กรจึงไม่สามารถละเลยการสร้างความสุขของพนักงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรให้ยั่งยืน
Happily.ai เครื่องมือสร้างสุข
ทรีฟ อธิบายต่อว่า กระบวนการทำงานของ Happily.ai จะมุ่งทำให้หัวหน้าและทีมเข้าใจกันยิ่งขึ้นผ่าน People Science โดย นำผลการวิจัยจาก MIT, Harvard, Wharton และ Google re:Work มาใช้เป็นแกนหลัก เพื่อช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายให้กับพนักงานและช่วยพัฒนาความเป็นผู้นำให้กับหัวหน้างาน
Happily.ai ได้เปลี่ยนรูปแบบการประเมินผลจากแบบสอบถามแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นเครื่องมือสนุกๆ ที่จะช่วยเช็กอุณหภูมิของความสุข และเช็กความเสี่ยงของพนักงานที่มีแนวโน้มจะลาออก ทั้งยังสอดแทรกประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจในที่ทำงาน รวมถึงการวิเคราะห์กลุ่ม Talent ของคนในองค์กร จากนั้นจะแสดงผลและส่งรายงานด้วยข้อมูลที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และสม่ำเสมอ ผ่านอีเมลแบบเรียลไทม์ถึงหัวหน้าทีม หรือคนที่อยู่ในจุดที่ให้คำแนะนำและแก้ปัญหาในทีมได้ดีที่สุด
“จุดประสงค์ที่เราดีไซน์เครื่องมือนี้ออกมาเพราะเราอยากให้องค์กรเข้าใจพนักงานจริงๆ และเพื่อทำให้รู้สึกว่าเขามีคุณค่า มีพาวเวอร์ที่จะให้ฟีดแบคกับองค์กรได้โดยตรง โดยเราจะส่งคำถามหลากหลายง่ายๆ ทุกวัน ใช้เวลาน้อยและสนุก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มาจากพนักงานจริงๆ ทำให้หัวหน้าทีมมีเครื่องมือบริหารจัดการทีมได้ เป็นตัวช่วยให้เกิดการสื่อสาร และแก้ปัญหาได้ตรงจุด”
ผู้บริหารหนุ่มเล่าถึงสถานการณ์ของคนทำงานเพิ่มเติมว่า หลายครั้งที่ปัญหาเกิดจากจุดเล็กๆ แต่สะสมทุกวันจนเกิดปัญหาใหญ่และนำไปสู่การลาออกในที่สุด ดังนั้น เมื่อผู้จัดการทีม HR และผู้บริหารได้รับการรายงานข้อมูลเชิงลึกส่งตรงแบบวันต่อวัน ก็จะช่วยให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพราะข้อมูลที่ได้นั้นจะช่วยวิเคราะห์ให้เห็นความสอดคล้องหรือความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมส่วนตัว การเข้าสังคมในที่ทำงาน และผลลัพธ์จากการทำงานของคนๆ นั้นได้อย่างชัดเจน
Happily.ai มีข้อดีอย่างไร?
ข้อดีของ Happily.ai ยังอยู่ที่การออกแบบด้วยความเข้าใจพฤติกรรมของคนทำงานอย่างลึกซึ้ง ทรีฟ กล่าวต่อว่า ในเมื่อวิธีการทำแบบสอบถามประจำปีแบบเดิมๆ ไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนการทำ Engagement ให้สนุก น่าสนใจมากขึ้น ได้ผลจริง และทำได้ทุกวัน ผ่านรูปแบบการเล่นเกม ทุกครั้งที่ตอบคำถามพนักงานจะได้รับสะสมเหรียญเพื่อนำไป Redeem แลกรับรางวัลต่างๆ รวมถึงแลกวันหยุดของออฟฟิศ หรือขอกลับก่อนเวลาก็ยังได้
เขายกตัวอย่าง ฟีเจอร์ Power-ups ส่งเหรียญให้กันเพื่อชื่นชมเพื่อนร่วมงาน การสร้างคลาสเพื่อแลกเปลี่ยนสกิล และความรู้ในองค์กร การสร้าง Quiz สั้นๆ สำหรับเรียนรู้สไตล์การทำงานของเพื่อนร่วมงานผ่าน “บ้านคัดสรร”
บ้านไหนนะที่เหมาะสมกับคนๆ นั้น รวมถึงเรื่องภายนอกที่ทำงาน อย่างการส่งเสริมให้พนักงานมีไลฟ์สไตล์สุขภาพดีด้วยการแข่งขันนับระยะการเดินหรือวิ่ง (Running Track) เป็นต้น
มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
ถึงแม้ว่า Happily.ai จะได้รับการพัฒนาและดำเนินการมาเพียง 2 ปีก็ตาม (ณ เวลาที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น, ทีมงาน Happily Blog) แต่ก็มีพาร์ทเนอร์องค์กรระดับประเทศ เอสเอ็มอี และกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียงให้ความสนใจเป็นลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งองค์กรเหล่านั้นมีความเห็นตรงกันและมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือความเชื่อที่ว่าทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุด การดูแลพนักงานให้มีความสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
“ผมเป็นสตาร์ทอัพที่ไม่ได้เน้นขายสักเท่าไร แต่ผมเป็น Product Designer ที่เข้าหาลูกค้าเพราะอยากเข้าไปเรียนรู้ว่าเราสามารถช่วยอะไรเขาได้บ้าง เราอยากเข้าใจ Challenge ของเขา ซึ่งเราสามารถนำปัญหาและไอเดียใหม่ๆ จากลูกค้ามาปรับปรุงโซลูชันและฟีเจอร์ต่างๆ ของเราให้ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเครื่องมือนี้เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยยิ่งเรานำเสนอว่าเป็นเกม ลูกค้าอาจไม่เข้าใจว่าวิธีนี้จะได้ประโยชน์อย่างไร เราจึงต้องสื่อสารและอธิบายถึงคุณค่าที่ทุกคนจะได้รับให้มากขึ้น”
ผู้บริหารหนุ่มแห่ง Happily.ai เล่าต่อว่า ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจเขาโฟกัสที่การขยายธุรกิจในประเทศไทยเป็นอันดับแรก แต่หลังจากสั่งสมประสบการณ์มาสักพักใหญ่ บวกกับข้อมูลสถิติ และเสียงสะท้อนจากลูกค้า ซึ่งเขายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด เดิมทีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างพนักงานใหม่และค่าเทรนนิ่งของบริษัทแห่งหนึ่งเคยอยู่ในระดับสูงถึงกว่า 6 ล้านบาทต่อปี แต่หลังใช้เครื่องมือนี้ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ขณะเดียวกันยังเกิดผลเชิงบวกในส่วนของความเป็นทีมเวิร์คที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยพนักงานหลาย Gen ในบริษัทนั้นสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เขาจึงมั่นใจว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดระดับโกลบอลได้ โดยผ่านรูปแบบการทำตลาดแบบออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึง Happily.ai ได้ง่ายที่สุด
ล่าสุดเขาได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ Happily Sparks™ คลังที่จะคอยเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อแชร์ข้อมูลความรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงาน และยังคอยส่งคำแนะนำที่เหมาะสมให้กับแต่ละคน โดยอิงจากปัญหาและความท้าทายที่พวกเขากำลังเจอในการทำงาน เพื่อเปลี่ยน Mindset และเขายังออกตัวว่ายังจะมีฟีเจอร์ใหม่เพื่อสร้างสุขให้กับคนทำงานตามมาอีกเพียบ
Happy Work, Happy Life
ทายาทรุ่นที่ 5 แห่งตระกูลสยามวาลา กล่าวว่า ทุกวันนี้เขายังคงสนุกและทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับงานนี้ เลยออกตัวว่าเขาอาจไม่มี Life Balance ที่ดีสักเท่าไร แม้จะชอบอ่านหนังสือแต่ก็เพื่อนำมาปรับใช้กับการดีไซน์ Happily.ai ให้ดีขึ้น เหมือนชีวิตของเขาทำงานอยู่ตลอดเวลา หลายๆ ครั้ง พื้นที่เล็กๆ บนโต๊ะอาหาร ก็ทำให้เขาสร้างโอกาสเรียนรู้การทำงานจากครอบครัว ซึ่งเป็นผู้บริหารของสยามวาลา ทั้งในด้านของการเปิดโลกทัศน์ใหม่ แนวคิด ข้อคิดต่างๆ ประสบการณ์การทำงาน
เขาเล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาในอดีต ซึ่งเคยพัฒนา Product Technology ให้กับสยามวาลา แต่เมื่อเขาต้องการสร้างสรรค์ธุรกิจของตัวเอง ครอบครัวก็พร้อมสนับสนุนและให้โจทย์เพียงว่า “ทำในสิ่งที่มีคุณค่า”
และก่อนที่ทรีฟจะเดินทางกลับไปเพลิดเพลินกับงานที่เขารัก ซีอีโอหนุ่ม ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า“สังคมการทำงานที่มีความสุขไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่เมื่อทุกคนในองค์กรตระหนักในคุณค่าและเห็นความสำคัญของกันและกัน นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริงของคนทำงาน”
ร่วมทดลองใช้งาน Happily.ai ฟรี
หลังจากที่คุณอ่านบทความนี้จบแล้ว คุณเริ่มมีความรู้สึกว่า Happily.ai จะช่วยนำพาองค์กรคุณไปในทิศทางที่ต้องการให้เป็น คุณสามารถลงทะเบียนเพื่อขอทดลองใช้งานใน Live Demo Session พร้อมปรึกษาหารือกับทีมงานของเรา เพื่อที่จะนำเอา Happily.ai เข้าไปใช้ในสถานการณ์จริง ในแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ
คุณสามารถทำได้โดยง่าย เพียงลงทะเบียนจากแบบฟอร์มด้านล่างของเรา แล้วทีมงานของเราจะติดต่อกลับไปในเวลาที่เร็วที่สุด ลงทะเบียนเลย:
บทความต้นฉบับโดย Tisco Wealth นิตยสาร Trust ฉบับที่ 50 | คอลัมน์ New Generation