แผนปฏิบัติการในการดูแล Well-being สมาชิกในทีมสำหรับผู้จัดการ
พนักงานที่มีความสุขและมีสุขภาพที่ดีคือหัวใจสำคัญของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ สุขภาวะหรือ Well-being ของพนักงานช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานเชิงบวก ช่วยทำให้ระดับความเครียดโดยรวมน้อยลงและเพิ่มความผูกพันต่อองค์กรและความพึงพอใจของพนักงาน ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดในงานและสุขภาพจิตใจที่ไม่ดีในที่ทำงานก็ส่งผลอย่างร้ายแรงเช่นกัน
บทบาทของผู้จัดการในการสนับสนุน Well-being ของสมาชิกในทีม
ผู้จัดการมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการสร้างสมดุลเรื่อง Well-being ของทีมและในการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย สิ่งนี้อาจทำให้ผู้จัดการรู้สึกไม่สบายใจและรู้สึกท่วมท้นในการส่งเสริม Well-being ของสมาชิกในทีม และปัญหาที่พบบ่อยที่สุดก็คือการหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในทีม
ข้อมูลจาก Gallup พบกว่าบทบาทของผู้จัดการคือช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทำให้พนักงานมีอำนาจในการตัดสินใจและจัดการกับ Well-being ของพวกเขาเองได้ ซึ่งมี 4 ขั้นตอนที่ช่วยส่งเสริม Well-being ของคนในทีม ดังนี้
- ชักชวน: ส่งเสริมความสำคัญของรูปแบบการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีและช่วยพนักงานจัดลำดับความสำคัญในเรื่อง Well-being ของพวกเขา
- จัดเตรียม: จัดให้มีสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น เป็นที่ยอมรับ และปลอดภัยที่กระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลงมือทำเรื่อง Well-being
- เป็นแบบอย่าง: ผู้จัดการควรแบ่งปันวิธีการปฏิบัติเรื่อง Well-being ให้สมาชิกในทีม โดยการยกตัวอย่างวิธีการปฏิบัติตนอย่างไรให้มี Well-being ที่ดี
- ห่วงใย: ผู้จัดการควรแสดงความห่วงใยที่แท้จริงเรื่อง Well-being ของสมาชิกในทีมด้วยการส่งเสริมพนักงานให้ตั้งเป้าหมายและติดตามผลความคืบหน้า Well-being ของตนเอง
ผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อ Well-being ของพนักงาน
การระบาดใหญ่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานที่ทำงานและทำลาย Well-being ของพนักงาน รายงานเรื่อง Well-being พบว่าพนักงาน 45% มีปัญหาสุขภาพจิตแย่ลงและ 42% มีการเชื่อมต่อทางสังคมในที่ทำงานลดลงในระหว่างช่วงล็อกดาวน์ โดยความเครียดที่พบบ่อยที่สุดคือปริมาณงาน ตามมาด้วยรูปแบบการจัดการและความไม่สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเมื่อทำงานจากที่บ้าน (WFH) พนักงาน 1 ใน 4 คนรายงานว่ารู้สึกเครียดเนื่องมาจากปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน (เช่นเรื่องความสัมพันธ์และเรื่องครอบครัว) ผู้จัดการต้องจัดการและช่วยเหลือทีมของพวกเขาในการจัดการกับสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดที่หลากหลายและช่วยพัฒนา Well-being ของสมาชิกในทีม ในขณะที่ยังคงต้องทำงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
และด้วยเหตุนี้เองทำให้ผู้จัดการมีความเปราะบางที่สุดที่จะมี Well-being ต่ำ
สาเหตุทั่วไปของ Well-being ของพนักงานที่มีระดับต่ำและวิธีแก้ไขสำหรับผู้จัดการ
เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อผู้จัดการที่จะเข้าใจว่า Well-being ที่ไม่ดีนั้นอาจเกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวกับงานและที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน ผู้จัดการควรรับผิดชอบ ดูแล และแก้ไขความเครียดที่เกิดจากงาน ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้พนักงานในทีมได้จัดการความเครียดที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้วย ซึ่งการพยายามโน้มน้าวสมาชิกในทีมที่มี Well-being ต่ำและกดดันเรื่องประสิทธิภาพการทำงานจากพวกเขามันไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย
และต่อไปนี้คือปัจจัยสนับสนุนทั่วไปที่ทำให้พนักงานมี Well-being ต่ำ และสิ่งที่คุณในฐานะผู้จัดการสามารถช่วยให้สมาชิกในทีมของคุณผ่านพ้นไปได้
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุ | คำอธิบาย | สิ่งที่คุณสามารถทำได้ |
ความโดดเดี่ยว | ความโดดเดี่ยวเกิดขึ้นเมื่อพนักงานรู้สึกถึงการขาดหายไปของการเชื่อมต่อและขาดความสัมพันธ์ทางสังคม พนักงานที่โดดเดี่ยวมีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกห่างจากเพื่อนร่วมงาน หยุดสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และไม่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม ความรู้สึกโดดเดี่ยวและแยกตัวออกไปนำไปสู่ความสับสน ไม่มั่นใจในตนเอง และความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความผูกพันกับองค์กรลดน้อยลง แรงจูงใจในการทำงานก็ลดน้อยลง และสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ | 🎯จัดกิจกรรมการสร้างทีมหรือรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันในทีม 🎯แสดงความสนใจและใส่ในใจเรื่องที่นอกเหนือชีวิตการทำงานของสมาชิกในทีม 🎯จัดการประชุม One-on-one เพื่อแชร์ความรู้สึกนึกคิดของสมาชิกในทีม |
ความเครียด | ความเครียดก่อให้เกิดอาการทางความคิด อารมณ์ และร่างกายที่ส่งผลต่อ Well-being ของพนักงาน ความเครียดที่มีระดับสูงลดความสามารถในการโฟกัสและการตัดสินใจของพนักงาน นอกจากนี้ยังนำไปสู่ความไม่สบายทางร่างกาย เช่น ปวดศรีษะ ปัญหาระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และความดันโลหิตสูง ปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้นและความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่ไม่แข็งแรงเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของความเครียดที่เกิดจากการทำงาน | 🎯ทบทวนปริมาณงานและกระจายงานอย่างเหมาะสม 🎯ลดจำนวนการประชุมหรือ video call ที่ไม่จำเป็นลง 🎯พิจารณาการจัดการการทำงานที่ยืดหยุ่น |
ความเหนื่อยล้า | ความเหนื่อยล้าเกิดขึ้นเมื่อพนักงานรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและหมดแรงเนื่องมาจากความเครียดที่สะสมต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการหมดไฟในการทำงานหรือ Burnout ด้วย พนักงานที่เหนื่อยล้ามักรู้สึกขาดการควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในงานและในชีวิตส่วนตัว ส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท พลังงานลดลง และแรงจูงใจในการทำงานน้อยลง พนักงานที่รู้สึกเหนื่อยล้าทางด้านอารมณ์อาจแสดงออกด้วยการเปลี่ยนแปลงของประสิทธิภาพการทำงาน เช่น ทำงานไม่เสร็จทันกำหนดส่งงาน มี Productivity และความมุ่งมั่นในงานต่ำลง และการขาดงานเพิ่มสูงขึ้น | 🎯ให้พนักงานได้พักหรืองีบหลับเป็นประจำ 🎯จำกัดการล่วงเวลางาน (OT) โดยให้ตามการอนุมัติเท่านั้น 🎯จัดหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้พนักงานเพื่อเป็นแหล่งพลังงานที่ดีสำหรับพวกเขา |
ความไม่ปลอดภัย | ความไม่ปลอดภัยหรือไม่มั่นคงในที่ทำงานทั่วไปจะเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือน ปริมาณงาน การยอมรับ ความก้าวหน้า ความสัมพันธ์ ประสิทธิภาพการทำงาน ความสำเร็จอื่น ๆ ความมั่นใจ และความมั่นคงในงาน พนักงานที่รู้สึกไม่ปลอดภัยอาจจะรู้สึกกลัวการสูญเสียงาน ขาดความมั่นใจ และรู้สึกกังวลเกี่ยวกับเป้าหมาย ประสิทธิภาพการทำงาน ความสามารถของพวกเขา หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความรู้สึกไม่ปลอดภัยสามารถนำไปสู่แรงจูงใจและ Productivity ที่ลดลง ความเครียด และการ Burnout | 🎯จัดให้มีการทำแบบสอบถามสั้น ๆ หรือ Pulse surveys เป็นประจำและดำเนินการตามที่ได้รับฟีดแบ็กมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นของพวกเขานั้นสำคัญ 🎯ชื่นชมพนักงานของคุณสำหรับความพยายามที่ถูกทิศทางในการทำงาน แม้ว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ช้าก็ตาม 🎯สื่อสารกับพนักงานอย่างชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่คาดหวังจากพวกเขา 🎯จัดหาโอกาสในการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการเติบโตในหน้าที่การงาน |
ผู้จัดการที่ใส่ใจและดำเนินการในเรื่องนี้มีบทบาทสำคัญในด้าน Well-being ของทีม ซึ่ง Well-being ของพนักงานส่งผลต่อ Productivity, ความผูกพันต่อองค์กร, และความร่วมมือ การจัดการ Well-being เริ่มต้นด้วยความเข้าใจถึงสาเหตุ และนี่เองที่ทำให้ Pulse surveys และบทสนทนา One-on-one มีความสำคัญ ความเครียดและปริมาณงานมักจะเป็นปัจจัยที่มีสาเหตุมาจาก Well-being ต่ำ แต่ปัจจัยอื่น ๆ ก็สามารถพบได้บ่อยและต้องการการแก้ไขที่แตกต่างกันไป
ผู้จัดการควรส่งเสริมและสนับสนุน Well-being ในที่ทำงานด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องรูปแบบการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีและแสดงออกถึงความห่วงใยอย่างจริงใจต่อผู้อื่น ในขณะเดียวกัน ผู้จัดการไม่ควรรับผิดชอบต่อ Well-being ของทีมเพียงผู้เดียว แต่ควรเน้นที่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและให้การสนับสนุน
Happily.ai ช่วยผู้จัดการพัฒนา Well-being ของทีมด้วยข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์และการสะกิดพฤติกรรม (Nudges) ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงในเวลาที่เหมาะสม ผู้จัดการสามารถรู้ถึงความเคลื่อนไหวของทีมและระบุได้อย่างรวดเร็วว่ามีความเครียดหรือประสบกับ Well-being ที่มีระดับต่ำอยู่ ทำให้เรื่อง Well-being เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในวันนี้และสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ Happily.ai