ในฐานะผู้นำองค์กร คุณเข้าใจดีกว่าใคร ๆ ว่าพนักงานที่กระตือรือร้นและเต็มที่กับงานสำคัญต่อธุรกิจมากเพียงใด แต่ในโลกการทำงานสมัยนี้ที่เรียกร้องและมีความต้องการต่อพนักงานเพิ่มมากขึ้นนั้น ทำให้พนักงานประสบกับภาวะ Cognitive Dissonance และเกิดอาการหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout สูงขึ้นอย่างชัดเจน เป็นสาเหตุให้ Productivity ของพวกเขาลดลง ขาดงานเป็นประจำ (Absenteeism) และมีอัตราการลาออกสูงขึ้น (Turnover Rate) ซึ่งสร้างผลเสียต่อองค์กรเป็นอย่างมาก

เพื่อทำความเข้าใจความเกี่ยวข้องของภาวะทางใจทั้ง 2 อย่างข้างต้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมา คุณต้องสร้างองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ บทความนี้จะช่วยให้คุณรู้จักและเข้าใจภาวะ Cognitive Dissonance กับ Burnout พร้อมทั้งยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดในบริบทที่ทำงานเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น รวมทั้งนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่สามารถนำไปปรับใช้ได้

Cognitive Dissonance คืออะไร ?

Cognitive Dissonance คือภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเราเผชิญกับความขัดแย้งกันระหว่างความเชื่อ ความคิด หรือค่านิยมตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับความเชื่อของเรา ก็จะทำให้เรารู้สึกเครียด สับสน และอึดอัดคับข้องใจ ตัวอย่างเช่น แซมเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน แต่เขาต้องนั่งเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังต่างประเทศ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า เครื่องบินสร้างมลพิษมากกว่าตัวเลือกอื่น ๆ หลายเท่าตัวก็ตาม เหตุการณ์นี้จึงทำให้แซมประสบกับภาวะ Cognitive Dissonance เพราะความเชื่อและการกระทำของเขาไม่ไปในแนวทางเดียวกัน

Burnout คืออะไร ?

Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน คือภาวะที่ร่างกาย อารมณ์และจิตใจอ่อนล้าจากความวิตกกังวลและความกดดันที่เผชิญอย่างต่อเนื่องจนสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง ภาวะเช่นนี้พบได้บ่อยในที่ทำงานที่มีความกดดันสูง และนำไปสู่ความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ปลีกตัวออกจากคนในที่ทำงาน และประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง อาการ Burnout เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นภาระงานที่มากเกินไป ไม่ได้รับการช่วยเหลือ และขาดอำนาจในการตัดสินใจ หากปล่อยทิ้งไว้นานและไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะสร้างความเสียหายต่อสุขภาพกายใจ Well-being และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

ตัวอย่างของ Cognitive Dissonance ในที่ทำงาน

ที่ทำงานก็เป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดภาวะนี้ได้ และแสดงออกมาให้เห็นในหลายรูปแบบและนำไปสู่ Burnout ได้ในที่สุด ดังเช่น

  • ค่านิยมที่ขัดแย้งกัน: พนักงานที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน (Work-Life Balance) เมื่อต้องทำงานนอกเวลาการทำงานนานหลายชั่วโมงเป็นประจำ จะเกิดความขัดแย้งระหว่างค่านิยมและการกระทำของเขาขึ้น ซึ่งทำให้เขารู้สึกผิดหวัง ท้อแท้และหมดไฟทำงานไปในที่สุด
  • ปัญหาทางจริยธรรม: พนักงานที่ต้องทนทำงานเพื่อเงินเดือนและสวัสดิการจากบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างไร้จริยธรรม จะเกิดความรู้สึกขัดแย้ง คับข้องใจและเกิด Burnout ในท้ายสุด
  • ความไม่ชัดเจนของตำแหน่งและหน้าที่การงาน: หากพนักงานต้องทำงานที่นอกเหนือจากขอบเขตงานที่ตกลงไว้กับองค์กร นานวันเข้าเขาก็จะรู้สึกเครียดสะสมและ Burnout ได้
  • เป้าหมายที่ขัดแย้งกัน: พนักงานอาจจะเผชิญกับเป้าหมายที่ขัดแย้งกันเอง เช่น ต้องเพิ่ม Productivity ในขณะที่ก็ต้องให้ความสำคัญกับ Well-being ของพนักงานไปด้วย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดและ Burnout จากความขัดแย้งนี้ได้

มีส่วนทำให้พฤติกรรม Toxic ขยายตัว

ภาวะ Cognitive Dissonance เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดคน Toxic ในที่ทำงานได้เช่นกัน เมื่อความเชื่อและการกระทำของคนเราสวนทางกัน เราอาจะเลือกวิธีการรับมือที่ไม่โอเค หรือกระทั่ง Toxic เพื่อลดความรู้สึกคับข้องใจที่ตนกำลังเผชิญอยู่ เช่น

  • กล่าวโทษผู้อื่น: เราอาจจะเลือกกล่าวโทษเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานที่ทำให้เราต้องรู้สึกไม่สบายใจและท้อแท้ มากกว่าที่จะรับผิดชอบและแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ขัดกับความเชื่อของเราเอง
  • ซุบซิบนินทา: การซุบซิบนินทาและแพร่ข่าวลือที่เกี่ยวกับผู้อื่น อาจเป็นทางเลือกที่พนักงานใช้เพื่อลดความรู้สึกตึงเครียดของตนเอง
  • หลีกเลี่ยง: พนักงานอาจจะเลี่ยงสถานการณ์หรือบุคคลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในใจ แทนที่จะเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
  • เกรี้ยวกราด: การสาดอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดใส่คนรอบข้างก็อาจจะเป็นอีกวิธีที่เลือกใช้ เพื่อลดความรู้สึกอึดอัดใจที่เราต้องเจอ

ความ Toxic เหล่านี้ส่งผลเสียต่อบรรยากาศในที่ทำงานและ Well-being ของพนักงานอย่างมาก ทำให้ขวัญกำลังใจในการทำงานลดลง เกิดความเครียดสะสม และประสิทธิภาพการทำงานก็ลดตามไปด้วย หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะขยายและแพร่กระจายกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ Toxic ซึ่งทำให้พนักงานไม่มีความสุขและองค์กรก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จได้

ข้อมูลเชิงลึกสำหรับผู้จัดการ ซึ่งช่วยให้เข้าใจ Well-being ของทีมและระบุพฤติกรรม Toxic ได้ทันท่วงที

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

คำแนะนำและวิธีการแก้ไขภาวะ Cognitive Dissonance และป้องกันการ Burnout

  1. แจกแจงค่านิยมและความเชื่อให้ชัดเจน: ใช้เวลาทบทวนค่านิยมและความเชื่อของตนเองและขององค์กร เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าความคิดและการกระทำของเราขัดแย้งกันตรงไหน เพราะอะไร เพื่อที่จะได้เข้าไปจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น
  2. ทบทวนความเชื่อและทัศนคติ: พิจารณาว่าความเชื่อและทัศนคติถูกต้องและสัมพันธ์กันกับค่านิยมองค์กรหรือไม่ หากไม่ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องไปกับค่านิยมองค์กร
  3. ค้นหาข้อมูล: รวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น และลดความคลุมเครือซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่สอดคล้องและขัดแย้งกัน
  4. ปรับพฤติกรรม: การปรับพฤติกรรมหรือการกระทำในที่ทำงานหรือในชีวิตส่วนตัวให้สอดคล้องกับค่านิยมและความเชื่อของตน จะช่วยให้ลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในใจ
  5. ขอความช่วยเหลือ: พูดคุยถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมทั้งความคิดและความรู้สึกกับคนที่ไว้ใจเชื่อใจ เช่น ครอบครัว เพื่อน และนักจิตบำบัด เป็นต้น
  6. ฝึกดูแลใจตัวเอง (Self-care): การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีขึ้น
วัดระดับ Well-being ในองค์กร เพื่อทำความเข้าใจและช่วยสร้างที่ทำงานที่มีความสุข

กล่าวโดยสรุปคือ ภาวะ Cognitive Dissonance และ Burnout เป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลกระทบทั้งในระดับพนักงานและองค์กร ในฐานะผู้นำองค์กร คุณมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของพนักงานได้ สมมติว่า พิม พนักงานคนหนึ่งในองค์กร เธอมีความสนใจในนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก สนุกไปกับการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาและเครื่องมือใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่สภาพแวดล้อมในองค์กรไม่สนับสนุนให้พิมได้ลองผิดลองถูก และการล้มเหลวก็เป็นเรื่องที่องค์กรยอมรับไม่ได้ การทำงานที่องค์กรของคุณทำให้พิมรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ เกิดความเครียดสะสม ท้อแท้และผิดหวัง หรือก็คืออาการของภาวะ Cognitive Dissonance

คุณสามารถช่วยเหลือพิมให้ใช้ศักยภาพของเธอเองได้เต็มที่ โดยการสร้างที่ทำงานที่ยอมให้พนักงานได้ทดลอง ล้มเหลว และส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เช่นนี้แล้ว ไม่เพียงแต่พิมจะทำงานได้อย่างสนุกและเต็มประสิทธิภาพแล้ว องค์กรก็จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างยั่งยืน

อย่ารีรอ คุณต้องให้ความสำคัญและลงมือแก้ไขปัญหาภาวะ Cognitive Dissonance และ Burnout ในองค์กรตั้งแต่ตอนนี้ การลงทุนใน Well-being และความพึงพอใจของพนักงาน การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานเชิงบวกและ Productive สำหรับทุกคน จะเป็นประโยชน์ต่อพนักงาน ต่อธุรกิจของคุณ รวมถึงสังคมโดยรวมอย่างประเมินค่าไม่ได้

Share this post