วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสหรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นใน ปัจจุบันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสําคัญกับชีวิตและสภาพแวดล้อมของเราในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตประจําวัน การอยู่ร่วมกันในสังคม รวมไปถึงรูปแบบการทํางานที่ปรับเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังนั้นความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงหรือ Resilience จึงมีบทบาทที่สําคัญอย่างมากที่จะช่วยเราให้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
บทความนี้เรานำเสนอ
- Resilience คืออะไร
- Resilience ในองค์กร
- ทําไม Resilience ของพนักงานถึงสําคัญกับองค์กร
- ดัชนีชี้วัด Employee Resilience (eRes)
- เกณฑ์มาตรฐานดัชนีชี้วัด Resilience ของพนักงาน
- สร้างและส่งเสริม Resilience ของพนักงานในองค์กรอย่างไร
Resilience คืออะไร
จากหนังสือ “เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี” ของกรมสุขภาพจิต ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Resilience Quotient (RQ) หรือ พลังสุขภาพจิต กล่าวไว้ว่า Resilience มาจากภาษาลาติน หมายถึงความสามารถในการกลับคืนสภาพเดิม คำว่า Resilience ยังไม่มีการกําหนดเป็นคําในภาษาไทยที่แน่นอน จึงมีผู้ใช้ในภาษาไทยหลากหลาย ความหมายของ Resilience ที่เป็นกระบวนการปรับตัวและฟื้นตัว เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ยากลําบาก หรือวิกฤตได้สําเร็จ หรืออาจกล่าวให้ง่ายขึ้นได้ว่า Resilience เป็นทักษะหรือความสามารถในการ “ลุกขึ้นยืน” อีกครั้งหลังจากผ่านพบความผิดหวังและความล้มเหลว และเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราฟื้นตัวจากปัญหาได้ และเช่นเดียวกันกับที่ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแห่งสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ระบุว่า Resilience คือกระบวนการปรับตัวได้อย่างดีเยี่ยมต่อความยากลำบาก ความเศร้าหมอง การสูญเสีย ช่วงเวลาแห่งความอันตรายหรือความเครียดที่รุมล้อม เช่น ปัญหาครอบครัวและปัญหาด้านความสัมพันธ์, ปัญหาสุขภาพร้ายแรง, หรือความกดดันทางด้านการเงินและความกดดันในที่ทำงาน
Resilience เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของสุขภาพจิตเชิงบวกและ Well-being ที่เมื่อพัฒนาทักษะนี้แล้วจะช่วยให้สามารถรับมือและฟื้นตัวได้หลังจากประสบกับการเปลี่ยนแปลง, ความท้าทาย, ความพ่ายแพ้, ความผิดหวัง, และความล้มเหลว โดยการเรียนรู้หรือพัฒนาทักษะ Resilience นี้สัมพันธ์กับการพัฒนาความนึกคิด พฤติกรรม และการกระทำที่ทำให้ฟื้นตัวหรือลุกขึ้นยืนได้จากความชอกช้ำทางจิตใจหรือเหตุการณ์ที่เคร่งเครียดในชีวิต
องค์ประกอบของ Resilience
การสร้าง Resilience เป็นการเดินทางส่วนบุคคลที่ต้องใช้การสะท้อนตัวตน เวลา และการฝึกฝน เช่นเดียวกันกับการสร้างกล้ามเนื้อที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความตั้งใจ เพื่อที่จะสร้างและพัฒนา Resilience ได้นั้นต้องเข้าใจถึงส่วนประกอบสำคัญของ Resileince ก่อน ซึ่งองค์ประกอบหลักของ Resilience ได้แก่
- สุขภาวะทางด้านอารมณ์ (Emotional well-being)
สิ่งนี้คือการแสดงว่าคุณสามารถจัดการอารมณ์และความคิดได้ดีเพียงใด และมุมมองที่มีต่อตนเองและโลกมีความเป็นจริงและมีมุมมองที่ดีแค่ไหน สิ่งนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานอันดับแรกของ Resilience - แรงขับเคลื่อนภายใน (Inner drive)
ความสามารถในการตั้งเป้าหมายและสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง พร้อมทั้งนําแนวคิดการมองไปข้างหน้าหรือการสร้างวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาชีวิตตนเอง - การมุ่งเน้นไปที่อนาคต (Future focus)
ระดับของวิสัยทัศน์และความสามารถที่มุ่งเน้นถึงการแก้ไขปัญหาและการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก - ความสัมพันธ์ (Relationships)
มีเครือข่ายทางสังคมที่เหนียวแน่นกับเพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งสิ่งนี้ช่วยส่งเสริมสภาวะทางด้านอารมณ์และร่างกาย - สุขภาพร่างกายและจิตใจ (Physical and Mental health)
เล็งเห็นถึงความสําคัญของการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ เพราะถ้าสุขภาพร่างกายและจิตใจยํ่าแย่แล้วจะส่งผลโดยตรงต่อองค์ประกอบอื่น ๆ ของ Resilience นั่นเอง
องค์ประกอบทั้งห้านี้มีส่วนเชื่อมโยงกันและแต่ละองค์ประกอบก็มีความสำคัญในตัวเอง ดังนั้นต้องพัฒนาให้ทั้งห้าองค์ประกอบมีความแข็งแกร่ง ตัวอย่างเช่น องค์ประกอบที่มีความสำคัญมากๆ ก็คือ สุขภาวะทางด้านอารมณ์ เราต้องเข้าใจและควบคุมความรู้สึกนึกคิดเราได้ ด้วยการยอมรับว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน สิ่งนี้ทำให้สามารถอยู่ในจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะพัฒนา Resilience ของตัวเองได้
Resilience ในองค์กร
โดยทั่วไปแล้วการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทุกองค์กรที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อรองรับและตอบโจทย์ของลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้นการระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย รวมไปถึงรูปแบบการทำงาน การทำ Digital Transformation ในองค์กร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้พนักงานต้องทำการปรับตัวครั้งใหญ่ พนักงานอาจทำงานหนักมากขึ้น ชั่วโมงการทำงานนานขึ้น มีตารางออนไลน์มีตติ้งตลอดทั้งวัน ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานในระหว่างการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) รวมไปถึงต้องพร้อมสำหรับการติดต่อสื่อสารผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเลต หรือคอมพิวเตอร์ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความเครียดและการหมดไฟในการทำงานหรือ Burnout ได้
การที่จะก้าวข้ามผ่านความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยทักษะและกลยุทธ์ที่สามารถพัฒนาได้ กลยุทธ์ที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ Resilience หรือความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ที่จะช่วยให้พนักงานสามารถจัดการกับความเครียด ตลาดงานที่มีความแข่งขันสูง ความขัดแย้งในที่ทำงาน และการจัดการกับความท้าทายในงานที่ทำอยู่
ทุกวันนี้องค์กรให้ความสำคัญกับ Resilience และทักษะนี้กลายเป็นคุณลักษณะสำคัญของบุคคลที่จำเป็นต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ข้อมูลจากเว็บไซต์หางานสัญชาติอังกฤษ (UK Job Board) เปิดเผยว่า ผู้ว่าจ้างงานกว่า 57 เปอร์เซ็นต์ มองว่า Resilience เป็นทักษะที่สำคัญของผู้สมัคร ขณะที่ 71 เปอร์เซ็นต์มองว่าความสามารถในการปรับตัวเป็นทักษะหลักที่ต้องการ ซึ่งการปรับตัวนี้เป็นลักษณะสำคัญของ Resilience นั่นเอง แสดงให้เห็นว่าหลาย ๆ องค์กรให้ความสำคัญกับพนักงานที่มี Resilience
Resilience ก่อให้เกิดแนวทางการทำงาน และมุมมองต่อชีวิตที่ดี นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และเเรงผลักดันในการทำงานที่เต็มเปี่ยม
ทําไม Resilience ของพนักงานถึงสําคัญกับองค์กร
จากวิจัยของ University of Canterbury พบว่า Resilience ของพนักงานส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กร (Employee Engagement) การทำงานที่มีประสิทธิภาพ (Performance) และ Well-being ของพนักงานเป็นอย่างมาก โดยผลงานวิจัยเกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ องค์กรใหญ่ และได้ถูกนำเสนอที่งานประชุมวิชาการจิตวิทยาองค์กรและอุตสาหกรรมในนิวซีแลนด์ในเมือง Auckland
หน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ ที่ต้องการสร้างและพัฒนา Resilience ของที่ทำงาน จะมองหาวิธีการที่ช่วยจัดการกับความเครียดในที่ทำงานและปัญหาสุขภาพจิตใจของพนักงาน โดยทางองค์กรมีการส่งเสริมและสร้างพนักงานที่มี Resilience นั่นก็คือพนักงานที่สามารถจัดการกับความเครียดได้ดีและพัฒนาสิ่งที่สามารถป้องการความเครียดที่จะเกิดขึ้นได้ การที่องค์กรส่งเสริมและสนับสนุน Resilience ของพนักงานในองค์กรนั้น
ประโยชน์ของ Resilience ต่อองค์กร คือ
- พนักงานมีความพึงพอใจในงาน มีความสุขในการทำงาน และมีความผูกพันธ์ต่อองค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับ Resilience
- องค์กรสื่อสารกับพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของ Resilience ของพนักงานจะช่วยให้พนักงานมีการพัฒนาความเชื่อมั่นและเคารพในตนเอง พัฒนาความรู้สึกของความสามารถในการควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้และเปิดใจรับฟัง พัฒนาความรู้สึกถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ และพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน
- องค์กรสามารถรักษา talent และมีอัตราการลาออก (Turnover) น้อยลง เนื่องจากพนักงานมี Well-being ที่ดี โดยที่ Resilience ช่วยกำหนดวิธีที่พนักงานตอบสนองและจัดการกับความเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ที่ BetterUp Labs พบว่า Resilience ของพนักงานช่วยทำให้พนักงานมีความเครียดลดน้อยลง และยังพบอีกว่าพนักงานที่มี Resilience ต่ำ มีแนวโน้มที่จะมีอาการ burnout มากขึ้นถึงสี่เท่า
- องค์กรมีความคล่องตัวสูงและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เนื่องจากพนักงานที่มี Resilience พร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับองค์กร
- องค์กรมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพนักงานได้เรียนรู้จากความผิดพลาด และมองวิกฤตหรือปัญหาเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในงานของตน
- องค์กรสามารถดำเนินการและเติบโตไปได้แม้ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย เพราะพนักงานที่มี Resilience มีเป้าหมายที่ชัดเจนและเข้าใจว่าผลงานของตนมีผลต่อองค์กรอย่างไร
- องค์กรมีรายจ่ายด้านการดูแลสุขภาพของพนักงานลดลง Tugade และ Fredrickson เสนอข้อค้นพบในปี 2004 ว่า “กระบวนการทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับ Resilience จะแสดงจากภายในออกมาทางร่างกายเช่นเดียวกัน” Joshua Miles ซึ่งเป็นนักบำบัดโรคกล่าวว่า ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการลางานเนื่องจากอาการป่วย (การขาดงานเป็นประจำ) ที่น้อยลง ซึ่งรวมถึงอัตราการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงที่น้อยลงเช่นกัน ทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด อีกทั้ง Resilience ยังส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตที่น้อยลง และสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นอีกด้วย
- องค์กรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพนักงานรักษาประสิทธิภาพในการทำงานและมี Productivity เพิ่มมากขึ้น
ประโยชน์ของ Resilience ในที่ทำงาน
Resilience เป็นทักษะหนึ่งที่พนักงานในองค์กรควรมี เพราะทักษะนี้จะช่วยให้องค์กรพัฒนาและเติบโตไปได้แม้ในยามที่เกิดวิกฤตหรือเกิดความไม่แน่นอน เมื่อพนักงานมี Resilience จะทำให้พนักงานสามารถ
- เผชิญหน้ากับความท้าทาย
พนักงานสามารถปรับตัว และพร้อมเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนและความท้าทาย - พัฒนาการสื่อสารให้ดีขึ้น
พนักงานสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และมีความแน่นแฟ้นกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น - ลดสภาวะหมดไฟในการทำงานและการขาดงาน
พนักงานสามารถจัดการความเครียด ควบคุมระดับความเครียดของตัวเอง และดูแลสุขภาพของตัวเองได้เป็นอย่างดี - สร้างธุรกิจที่สามารถแข่งขันในตลาดได้
พนักงานมีแรงผลักดันในการสร้างนวัตกรรมและแก้ไขปัญหาส่วนรวมในองค์กร - ตั้งความคาดหวังอยู่บนความเป็นจริง
พนักงานมีแนวคิดที่ตั้งบนพื้นฐานความเป็นจริง รวมถึงปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายและความเชื่อของตนเอง - มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน
พนักงานมีอารมณ์ขันและเข้ากันกับผู้อื่นได้ดี พวกเขาจะช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับองค์กร ซึ่งก่อให้เกิดบรรยากาศด้านบวกมากขึ้น - เปิดกว้างต่อการพัฒนา
พนักงานมีเป้าหมายในชีวิต มีความเข้าใจในการทำงานด้วยตนเองและการพัฒนาตนเอง - มีการจัดการอย่างเป็นระบบที่ดีและมีการจัดการเวลาที่มีประสิทธิภาพ
พนักงานจัดการงานของตนเองและชีวิตส่วนตัวได้เป็นอย่างดี - พร้อมและเต็มใจที่จะให้และรับความช่วยเหลือ
พนักงานพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในองค์กรให้ประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้ และพวกเขาจะเป็นคนที่ทำงานเป็นทีมได้ดียิ่งขึ้นพร้อม - พร้อมและเต็มใจที่จะให้และรับฟีดแบ็ก
พนักงานมีทัศนคติแห่งการเติบโต (Growth Mindset) รวมถึงพร้อมที่จะรับฟังและเรียนรู้จากฟีดแบ็กที่พวกเขาได้รับ
ดัชนีชี้วัด Employee Resilience (eRes)
Resilience ของพนักงานส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กร การทำงานที่มีประสิทธิภาพ และ Well-being ของพนักงานเป็นอย่างมาก ดังนั้นการวัดระดับ Resilience ของพนักงานจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญ เพราะเมื่อองค์กรทราบถึงระดับ Resilience ของพนักงาน องค์กรสามารถนำค่านี้ไปพิจารณาหาแนวทางในการพัฒนาองค์กรด้วยการพัฒนา Resilience ของพนักงานต่อไปได้
ที่มาของ Employee Resilience (eRes)
Dr. Joana Kuntz, Dr. Katharina Näswall และ Dr. Sanna Malinen ได้จัดตั้งทีมวิจัยเกี่ยวกับ Employee Resilience ที่ University of Canterbury ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในนิวซีแลนด์ เพื่อประเมินว่าพนักงานสามารถจัดการกับความท้าทายอย่างไรในที่ทำงานและพิจารณาระดับ Well-being ของพนักงาน ทางทีมวิจัยพบว่า การวัด Resilience ของพนักงานมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับพฤติกรรมของพนักงานเอง ทางทฤษฎีกล่าวว่าสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่เน้นเรื่องการเรียนรู้ และที่ให้ความร่วมมือกันนั้น ช่วยให้พนักงานมีพฤติกรรมที่มี Resilience โดยใช้เครื่องมือที่ใช้วัดระดับ Employee Resilience หรือ EmpRes โดยมาตราวัดนี้ได้ถูกนำเสนอและพัฒนาขึ้นในปี 2015 โดยจุดประสงค์ของมาตราวัดนี้เพื่อให้องค์กรสามารถใช้มาตราวัดนี้วัดค่าและติดตามระดับ Resilience ของพนักงาน และแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องพัฒนาปรับปรุง Resilience ของพนักงานในองค์กร และมาตราส่วนนี้ยังถูกนำไปใช้ในงานวิจัยที่ใช้ทดสอบความเชื่อมโยงระหว่าง Resilience ของพนักงานกับสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ
โดยที่ Näswall et al. (2013) ได้นิยาม Resilience ของพนักงาน ว่าสร้างขึ้นมาจากคำนิยามของ Resilience ขององค์กร นั่นก็คือ บทบาทหนึ่งของความตระหนักในสถานการณ์รวมทั้งหมดขององค์กร การจัดการกับช่องโหว่หลักขององค์กร และความสามารถในการปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน ที่ไดนามิก และที่เชื่อมโยงถึงกัน
การวัดระดับ Resilience ของพนักงาน
จากที่กล่าวถึงความสำคัญของ Resilience ของพนักงานในองค์กรไปในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้ว ทาง Happily.ai เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวัดค่า Resilience ของพนักงานในองค์กร หรือที่เราเรียกว่า eRes หรือ Employee Resilience ประกอบไปด้วยชุดคำถาม 5 คำถาม โดยที่คำถามเหล่านี้นำมาจากคำถามบางส่วนในมาตราวัด EmpRes ดังที่กล่าวมาข้างต้น
การวัดระดับ Resilience ของพนักงาน หรือ e-Res Index ประกอบด้วยคำถามหรือประโยคที่พิจารณาพฤติกรรมของพนักงานที่มี Resilience ได้แก่
พวกเราทำงานด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาที่ไม่คาดคิด
พวกเราตอบรับฟีดแบ็กในที่ทำงานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนักหรือเบา
พวกเราเข้าหา/พูดคุยกับหัวหน้า เมื่อต้องการความช่วยเหลือ
พวกเราใช้การเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานเป็นโอกาสในการเติบโต
วิธีคำนวนดัชนี eRes
การคำนวณค่าดัชนี eRes จากชุดคำถามทั้ง 5 ข้อนั้น ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามจะให้คะแนนในแต่ละข้อ มีคำตอบให้เลือก 6 ข้อ โดยที่แต่ละข้อจะมีคะแนนตั้งแต่ 5 (ตลอดเวลา) จนถึง 0 (ไม่เคยเลย) คะแนน ดังนั้นคะแนนรวมจะมีค่าตั้งแต่ 0 (คะแนนต่ำสุด) ถึง 25 (คะแนนสูงสุด) คะแนน เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบและเป็นไปตามมาตราวัดทั่วไป จึงทำการคูณคะแนนดิบที่ได้ด้วย 4 เพื่อให้ได้ค่า eRes มีคะแนนตั้งแต่ 0 จนถึง 100 คะแนน โดยเกณฑ์ในการวัดผลคะแนนนั้น ถ้าผู้ตอบแบบสอบถามได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนนถือว่ามี Resilience ต่ำหรือไม่ดี
จากผลการตอบคำถามในชุดคำถามวัดค่าดัชนี eRes เรานำคำตอบของผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมดมาทำการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคหรือ Cronbach's Alpha Coefficient ซึ่งเป็นค่าที่บอกถึงความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม ที่วัดค่าความสอดคล้องของชุดคำถาม และเราคำนวณค่าสัมประสิทธิ์ Cronbach's Alpha สำหรับชุดคำถามวัดดัชนี eRes ทั้ง 5 คำถาม ได้ 0.86 ซึ่ง George and Mallery (2010) ตีความค่าสัมประสิทธิ์ Cronbach's Alpha ดังนี้
หมายเหตุ: ค่าสัมประสิทธิ์ความน่าเชื่อถือที่ .70 หรือสูงกว่านั้นถือว่า "ยอมรับได้" ในงานวิจัยทางสังคมศาสตร์
ดังนั้นชุดคำถามวัดดัชนี eRes ที่มีค่าสัมประสิทธิ์ Cronbach's Alpha = 0.86 นั้นแสดงได้ว่าค่าความสอดคล้องของแต่ละคำถามมีความสอดคล้องกันดี หรือกล่าวได้ว่าแบบสอบถามมีความเชื่อมั่นที่ดี
เกณฑ์มาตรฐานดัชนีชี้วัด Resilience ของพนักงาน
ทาง Happily.ai ได้มีการพัฒนาและเพิ่มชุดคำถาม eRes ลงไปในระบบ Pulse Survey เพื่อดูค่า Resilience ของพนักงานในองค์กรต่างๆ และได้ข้อมูลดัชนีค่า Resilience ของพนักงานหรือ eRes จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 1,263 ท่าน จาก 22 องค์กร โดยค่าดัชนี eRes ของทั้ง 22 บริษัทมีค่าตั้งแต่ 65 จนถึง 88 คะแนน และมีค่ามัธยฐานและค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 80 คะแนน (ดังแสดงในเส้นประ)
เมื่อพิจารณาจากพนักงานที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดกับผลการตอบคำถามในแต่ละข้อ ได้ผลแสดงในกราฟด้านล่าง
สร้างและส่งเสริม Resilience ของพนักงานในองค์กรอย่างไร
เมื่อเราได้ทราบถึงข้อดีมากมายของ Resilience ของพนักงานที่มีต่อองค์กรแล้ว องค์กรและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรให้การส่งเสริมและสนับสนุน Resilience ของพนักงานอย่างจริงจัง
องค์กรมีส่วนช่วยสร้างและส่งเสริม Resilience ให้พนักงานได้ดังนี้
- เข้าใจพนักงานของคุณ พนักงานที่มี Resilience ก็ทำให้องค์กรมี Resilience โดยทั่วไปแล้วคนที่ได้รับการสนับสนุนและแรงบันดาลใจจะเป็นคนที่พร้อมจะก้าวผ่านอุปสรรคและสิ่งรบกวนต่างๆ ไปได้ ดังนั้นการทราบระดับ Resilience ของพนักงานในองค์กรว่าอยู่ที่ระดับใด มีสิ่งใดที่เป็นแรงกดดันจนส่งผลต่อพนักงานและสามารถปรับปรุงในเรื่องนี้ได้อย่างไร โดยการทำความเข้าใจพนักงานผ่านแบบสอบถามหรือแบบประเมินเพื่อเข้าใจพนักงานมากขึ้น
- แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมจากผู้นำองค์กรและผู้บริหาร ที่ทำงานที่มี Resilience นั้นต้องอาศัยความเห็นชอบของผู้นำองค์กรและผู้บริหาร ผู้นำคือกุญแจหลักในการจัดลำดับความสำคัญ กำหนดเป้าหมาย และจัดสรรทรัพยากรเพื่อส่งเสริม Resilience ให้แข็งแกร่งในองค์กร ดังนั้นพนักงานยินดีที่จะให้ความร่วมมือและการเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมด้าน Resilience เมื่อผู้นำให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
- พิจารณาการฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริม Resilience ให้กับพนักงาน ดังที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า Resilience คือทักษะอันหนึ่งที่สามารถฝึกฝนได้ ดังนั้นการจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Resilience หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิด Resilience นั้นเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้พนักงานพัฒนาทักษะ Resilience นี้ได้ ซึ่งการฝึกอบรมและกิจกรรมนี้มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานอีกด้วย
- สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มี Resilience วัฒนธรรมองค์กรถูกสร้างขึ้นมาจากหลักการของการให้อำนาจการตัดสินใจในการทำงาน เป้าหมายของงาน ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และความรับผิดชอบต่องาน การสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมที่มี Resilience ที่แข็งแกร่งนั้นทำได้โดยที่องค์กรมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุน Resilience ซึ่งการประกาศนโยบายอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอ ทางองค์กรยังต้องมีการสื่อสารเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอกับคนในองค์กร นอกจากนี้การส่งเสริมรูปแบบการบริหารที่เปิดกว้างและเชื่อถือได้ โดยการฝึกอบรมผู้จัดการหรือหัวหน้าทีมให้เข้าใจถึงความสำคัญของ Well-being ทางด้านจิตใจของลูกทีมตัวเอง ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มี Resilience อีกด้วย
- มองหาวิธีการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน ไม่ว่าสภาพแวดล้อมที่ทำงานในออฟฟิศจริงหรือออฟฟิศเสมือนจากที่บ้าน ความยืดหยุ่นของสภาพแวดล้อมนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ สภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่นช่วยให้พนักงานมีการปรับเปลี่ยนและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามที่พวกเขาตั้งใจไว้ เพราะรูปแบบการทำงานในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ระบบการทำงานที่องค์กรวางไว้จะต้องเป็นตัวช่วยไม่ใช่อุปสรรคการทำงานของพนักงาน และการไม่ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงจะยิ่งส่งผลให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน สิ่งที่ควรพิจารณาคือ
- ให้อิสระในการทำงานเมื่อมีโอกาส ในที่นี้คือการให้พนักงานมีอำนาจตัดสินใจในการลงมือทำงานในวิธีของตนเองเพื่อให้ได้ผลงานออกมาตามเป้าหมายนั่นเอง
- ให้รางวัลเมื่อทำงานดี การชื่นชมและให้การยอมรับกันในที่ทำงาน เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังใจให้พนักงานทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ
- จัดหาและสนับสนุนการเข้าถึงบริการเพื่อรักษาให้พนักงานมีสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งบางครั้งพนักงานอาจต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ ดังนั้นองค์กรต้องมั่นใจได้ว่าพนักงานมีการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพอย่างเพียงพอและทั่วถึง
- อนุญาตให้สามารถจัดตารางการทำงานที่มีความยืดหยุ่น องค์กรสามารถผ่อนปรนเวลาการทำงานโดยการปรับตารางเวลางานให้เหมาะสมและมีความยืดหยุ่น ที่ทำให้พนักงานได้รู้สึกพักผ่อนเพียงพอหลังจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเวลาออฟฟิศ หรือเวลาเป็นกะการเข้างาน
- มีความคาดหวังเรื่องงานอย่างสมเหตุสมผล องค์กรควรระมัดระวังนโยบายเกี่ยวกับความคาดหวังและชั่วโมงในการทำงาน แรงผลักดันให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จอาจส่งผลให้มีการผลักดันพนักงานโดยการเพิ่มปริมาณงาน และการเพิ่มปริมาณงานนี้สามารถย้อนกลับมาทำลายประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของพนักงานได้
ผู้จัดการและหัวหน้างานช่วยสร้างและส่งเสริม Resilience ให้กับลูกทีมได้ดังต่อไปนี้
- ชี้แจงเป้าหมายและแนวทางการทำงานให้ชัดเจน ผู้จัดการหรือหัวหน้าทีมควรตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และสื่อสารเป้าหมายดังกล่าวให้ทีมรับรู้และเข้าใจ เพราะแนวทางและการคำนึงถึงเป้าหมายจะช่วยสร้างทิศทางที่ทำให้พนักงานสามารถเอาชนะอุปสรรค และพยุงตัวเองออกมาจากความล้มเหลวได้
- สื่อสารและรับฟังให้บ่อยครั้ง การคอยถามไถ่ความเป็นไป รวมถึงการประชุมตัวต่อตัวถือเป็นหนทางการรักษาแนวทางการทำงานและการแก้ไขปัญหาเชิงรุกที่ดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างกรอบการให้ฟีดแบ็กภายในองค์กรของคุณอีกด้วย การมีปฏิสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอจะเป็นตัวกระตุ้นไอเดียใหม่ๆ และการนำไอเดียนั้นๆ ไปปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จ (ไอเดียที่รวมเข้ากับการปฏิบัติ จะได้นวัตกรรมเป็นผลลัพธ์)
- ให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับงานที่ทำ ความรู้สึกของความเป็นส่วนหนึ่งส่งผลต่อความตั้งใจและแรงผลักดันในการลงมือทำของพนักงาน อีกทั้งยังช่วยให้พนักงานรู้สึกมีความแน่วแน่และมีความเป็นส่วนหนึ่งกับบางสิ่งที่สำคัญ
- กำจัดอุปสรรคในการให้ความร่วมมือ ระบบแบบเดิมๆ ได้รับการออกแบบมาเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและลดข้อผิดพลาดจากการทำงาน แต่ก็แลกมาด้วยระยะเวลาที่นานขึ้นและโอกาสปรับตัวที่น้อยลง อีกทั้งยังกำจัดการริเริ่มทดลองและการประยุกต์ใช้สิ่งใหม่ๆ ในการทำงานอีกด้วย ซึ่งนี่เองที่เป็นอุปสรรคในการให้ความร่วมมือ
- ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน พนักงานมีความจำเป็นที่จะต้องพร้อมเผชิญหน้ากับความรับผิดชอบที่ท้าทายตัวเองอยู่ตลอดเวลา รวมถึงต้องมีการปรับเปลี่ยนและยอมรับในความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งความพร้อมในส่วนนี้จะลดน้อยลง หากพวกเขาตกอยู่ในสภาวะความเครียด หรือสุมด้วยภาระงานที่หนักอึ้ง สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีจะช่วยให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย คำนึงถึงคุณค่าของตนเอง และทุ่มเทต่อองค์กรมากขึ้น
พนักงานในองค์กรก็สามารถส่งเสริมทักษะ Resilience ให้กับตนเอง ด้วย 11 วิธี คือ
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่เข้าอกเข้าใจทำให้คุณเองรู้สึกว่าตนเองไม่ได้อยู่ลำพังท่ามกลางความยากลำบาก พยายามจัดลำดับความสำคัญในการติดต่อกับคนที่ห่วงใยคุณ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน หรือเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมที่ตนเองสนใจ
- ดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของตนเอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ Resilience ที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางด้านอารมณ์ โดยการดูแลร่างกายด้วยการออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพจิตใจด้วยการฝึกทำสมาธิ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความคิดเชิงลบ
- ค้นหาเป้าหมายในชีวิต การมีเป้าหมายในชีวิตมีส่วนสำคัญในการทำให้ตนเองมี Resilience เพราะเมื่อรู้ว่าเราจะอยู่ไปเพื่ออะไร เมื่อพบเจอปัญหาใดๆ สิ่งนี้จะคอยย้ำเตือนคุณให้ลุกขึ้นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้นั่นเอง
- ช่วยเหลือคนอื่นๆ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งเสริมคุณค่าในตัวเองและสิ่งนี้ช่วยพัฒนา Resilience
- รับรู้และยอมรับความรู้สึกหรืออารมณ์ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก สิ่งนี้ช่วยให้เราค้นพบตัวเองในช่วงเวลาดังกล่าว
- ก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้และทำเป็นประจำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น แม้ว่าจะเป็นการกระทำทีละเล็กน้อยก็ตาม แทนการจดจ่อกับงานที่เราคิดว่าทำไม่ได้
- มองหาโอกาสสำหรับการค้นพบตนเอง บ่อยครั้งที่คนเราคิดว่าเราเติบโตจากการต่อสู้กับความยากลำบาก ซึ่งช่วยเพิ่มความรู้สึกในการมีคุณค่าในตนเองและรู้สึกขอบคุณที่ก้าวผ่านพ้นช่วงเวลานั้นในชีวิตมาได้
- มองโลกในแง่ดีและมองตามความเป็นจริง มุมมองชีวิตมีส่วนสำคัญต่อความรู้สึก และแสดงให้เห็นว่าคุณมี Resilience มากน้อยแค่ไหนเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค
- ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเรา ซึ่งบางทีสิ่งที่เราคาดหวังไว้อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง อาจเนื่องมาจากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ถ้าคุณยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้จะทำให้คุณจดจ่อกับสิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้
- เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต เมื่อมองย้อนกลับไปว่าใครหรือสิ่งใดที่ช่วยในยามทุกข์ใจครั้งก่อน คุณอาจค้นพบว่าคุณจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากใหม่อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เตือนตัวเองว่าคุณสามารถหาจุดแข็งได้ที่ไหนและถามตัวเองว่าคุณได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์เหล่านั้น
- ขอความช่วยเหลือเมื่อคุณต้องการมัน การยอมรับความช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญของการสร้าง Resilience
สรุป
Resilience ของพนักงานคือความสามารถที่องค์กรสามารถส่งเสริมและสนับสนุนได้ แทนที่จะมองว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวคนมาตั้งแต่เกิด แต่ Resilience ของพนักงานนี้ควรถูกมองว่าเป็นความสามารถที่ใช้ทรัพยากรในที่ทำงานได้อย่างเหมาะสม สนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์เชิงบวก (ที่ดี) เรียนรู้จากความผิดพลาด และเติบโตได้ในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือท้าทายในที่ทำงาน ดังนั้นองค์กรจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างและส่งเสริม Resilience ของพนักงานในองค์กร
องค์กรควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนา Resilience ของพนักงาน ได้โดยการให้เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานที่เหมาะสมและการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและนำเสนอ นวัตกรรม ใหม่ๆ แสดงความห่วงใยใน Well-being ของพนักงาน และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ที่ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์และการแบ่งปันความรู้กันในองค์กร พนักงานมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับของประสิทธิภาพการทำงานที่ดีไว้ และยังมี Well-being ที่ดีแม้อยู่ภายใต้สภาวะการทำงานที่มีงานเยอะจนเกินกำลัง ความไม่มั่นคงในการทำงาน และภายใต้แรงกดดันอื่นๆ รวมไปถึงการเกิดภัยพิบัติด้วย โดยองค์กรสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นและเติบโตได้แม้ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย ตราบใดที่องค์กรมั่นใจได้ว่าพนักงานในองค์กรมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเข้าใจว่าผลงานของตนมีผลต่อองค์กรอย่างไร