คู่มือพร้อมเทมเพลตสำหรับการประชุม One-on-One

การประชุม One-on-One เป็นเครื่องมือในการบริหารที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้จัดการ โดยการประชุมนี้มีขึ้นเพื่อให้และรับฟีดแบ็ก และทำให้พนักงานเข้าใจข้อมูลการทำงานที่เกิดขึ้นตรงกัน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ และช่วยให้ลูกทีมมีการเติบโตในหน้าที่การงาน
One-on-One Meeting Guide: คู่มือพร้อมเทมเพลตสำหรับการประชุม One-on-One

การประชุม One-on-One

การประชุม One-on-One คือ การเช็กอินหรือพบปะพูดคุยเป็นประจำแบบตัวต่อตัวในองค์กร ซึ่งปกติแล้วก็คือการเช็กอินระหว่างหัวหน้ากับลูกทีมของตนเองนั่นเอง สิ่งนี้เป็นเครื่องมือในการบริหารที่สำคัญอย่างหนึ่งของหัวหน้าหรือผู้จัดการ โดยการประชุมนี้มีขึ้นเพื่อให้และรับฟีดแบ็ก และทำให้พนักงานเข้าใจข้อมูลการทำงานที่เกิดขึ้นให้ตรงกัน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ และช่วยให้ลูกทีมมีการเติบโตในหน้าที่การงาน

การประชุมพบปะพูดคุยกับสมาชิกในทีมเป็นสิ่งที่ผู้นำทีมหรือผู้จัดการต้องให้ความสำคัญ เพราะสิ่งนี้ช่วยให้สมาชิกในทีมทำงานในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร และยิ่งในสถานการณ์ที่ทำให้ทีมต้องทำงานจากทางไกล  (WFH) หรือทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid) ทำให้การพบปะของหัวหน้าทีมและสมาชิกในทีมลดน้อยลง ดังนั้นการประชุมแบบตัวต่อตัวหรือที่เรารู้จักกันดีว่า One-on-One meeting จึงยิ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกคนต่างมีงานของตนเองที่ต้องทำ ดังนั้นในการประชุมจึงไม่ควรเสียเวลาในหัวข้อหรือเนื้อหาที่ไม่สำคัญ

การประชุม One-on-One ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว โดยจะเน้นการพูดคุยกับพนักงานมากกว่าการอัพเดทความก้าวหน้าของงานซึ่งสิ่งนี้ทำให้การประชุม One-on-One เป็นสิ่งพิเศษ การประชุมนี้มีความสำคัญอย่างมากเพราะสิ่งนี้ช่วยวางรากฐานความสัมพันธ์ในการทำงานที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และช่วยส่งเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

โดยในบทความนี้เราจะนำเสนอ

  • จุดประสงค์ของการประชุม One-on-One
  • ประโยชน์ของการประชุม One-on-One
  • แนวทางปฏิบัติในการประชุม One-on-One
  • เคล็ดลับการประชุม One-on-One ที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้จัดการ
  • เทมเพลตคำถามที่ใช้ในการประชุม One-on-One

จุดประสงค์ของการประชุม One-on-One


การประชุมแบบ One-on-One นี้มีจุดประสงค์เพื่อจะดูว่าสมาชิกในทีมเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัว และอารมณ์ในช่วงเวลาขณะนั้น หัวหน้าทีมหรือผู้จัดการสามารถพูดคุยเรื่องความท้าทายที่เกิดขึ้น ระดับของแรงจูงใจ และโอกาสในการเติบโตทางหน้าที่การงานของสมาชิกในทีมแต่ละคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้หัวหน้าทีมรู้ว่าสมาชิกในทีมเป็นอย่างไรบ้าง ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด และรู้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าพนักงานต้องการสิ่งใดเพื่อให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการทำงาน

การประชุมแบบ One-on-One เป็นประจำช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างหัวหน้าและลูกทีม และยังเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้หัวหน้าทีมหรือผู้จัดการได้รับฟีดแบ็กโดยตรงจากลูกทีมในเรื่องประสบการณ์การทำงาน ความเครียดหรือความผ่อนคลายในการทำงาน หรือแม้กระทั่งความท้าทายที่เจอในงานขณะนั้น ซึ่งการถามคำถามที่เหมาะสมมีส่วนช่วยให้สมาชิกในทีมรู้สึกมีส่วนร่วมและมีแรงจูงใจในงานที่ทำอยู่ และยังใช้เวลาในการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ประโยชน์ของการประชุม One-on-One

ประโยชน์สำหรับพนักงาน

  • ได้รับฟีดแบ็กและคำแนะนำที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
  • ได้รับการรับฟังพร้อมทั้งคำแนะนำในการแก้ปัญหาได้ทันเวลาจากหัวหน้างาน
  • ให้ความรู้สึกปลอดภัยเมื่อรู้ถึงสถานะของตนเองว่ายืนอยู่จุดไหน จากการได้รับฟีดแบ็กอย่างต่อเนื่องจากหัวหน้าตนเอง
  • สร้างโอกาสในการนำเสนอหัวข้อสนทนาที่ต้องการคุยกับหัวหน้า ที่อาจเป็นหัวข้อที่หาเวลาคุยกันในระหว่างวันได้ยาก

ประโยชน์สำหรับหัวหน้าทีมหรือผู้จัดการ

  • ช่วยให้คุณแนะนำแนวทางการพัฒนาให้กับสมาชิกในทีม
  • ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้แต่เนิ่น ๆ
  • ช่วยให้อัตราการรักษาพนักงานไม่ให้ลาออก (Employee Retention) เพิ่มสูงขึ้น
  • ช่วยปลดล็อกศักยภาพของสมาชิกภายในทีม
  • ช่วยสร้างพื้นที่และความไว้วางใจเพื่อให้แน่ใจว่าคุณรู้ใจสมาชิกในทีมของคุณ และสามารถทำให้พนักงานมีความสุขและมีประสิทธิภาพในการทำงาน
  • ได้พัฒนาทักษะและปรับปรุงตนเองในการเป็นหัวหน้าที่ดี ทั้งเรื่องการรับและให้ฟีดแบ็ก การเป็นผู้ฟังที่ดี การสื่อสารระหว่างบุคคล และการดึงศักยภาพของสมาชิกในทีมออกมา
  • ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสิ่งที่สมาชิกในทีมคาด

ประโยชน์สำหรับองค์กร

  • เติบโตและประสบความสำเร็จจากการที่หัวหน้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมและทำให้ทีมมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน
  • เพิ่มความผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน หรือ Employee Engagement
  • ช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงาน (Turnover)
  • ช่วยให้ Productivity เพิ่มขึ้น

แนวทางปฏิบัติในการประชุม One-on-One

สำหรับพนักงาน

  1. เข้าประชุมอย่างเปิดใจและโฟกัสที่เป้าหมายเดียว เป็นการกระทำง่าย ๆ ที่ทำให้กำหนดโทนการประชุมและแสดงให้เห็นว่าคุณให้คุณค่าแก่เวลาของผู้จัดการและเวลาของตัวคุณเอง บางครั้งเป้าหมายเดียวนี้จะสามารถทำให้เรามีรายการของคำถามที่ดีในเชิงกลวิธี หรือกล่าวคือการค้นหาหรือพูดคุยหัวข้อหนึ่งอย่างลึกซึ้งหรืออย่างละเอียด
  2. มีส่วนร่วมในการสร้างตารางการประชุมอย่างกระตือรือร้น สิ่งนี้ทำให้คุณได้รับสิ่งที่คุณต้องการจากการประชุม ซึ่งคุณไม่เพียงแต่แค่รายงานความคืบหน้างานของตนเองและตอบคำถามผู้จัดการ แต่คุณควรแชร์ประสบการณ์ ความท้าทาย และไอเดียที่มี ขอความช่วยเหลือทั้งเรื่องทรัพยากรในการทำงาน การฝึกอบรม การพัฒนา และโอกาส
  3. เตรียมตารางการประชุมก่อนล่วงหน้า สิ่งนี้ทำให้พนักงานกำหนดเป้าหมายและรู้ถึงความตั้งใจสำหรับการประชุมในครั้งนี้ ผู้จัดการมีโอกาสที่จะเตรียมตัวสำหรับการพูดคุยกันภายในระยะเวลาของการประชุม การมีตารางการประชุมนี้ช่วยให้เราสามารถจดรายการที่เราต้องทำต่อไปและการติดตามงาน จนไปถึงการมีประสิทธิผลที่สูงขึ้น
  4. นำเสนอภาพรวมของงานที่ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อให้แน่ใจได้ว่าความสำคัญของลำดับการทำงานของคุณสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้จัดการของคุณหรือไม่ การเตรียมสิ่งเหล่านี้ก่อนการประชุมแสดงถึงการริเริ่มและช่วยจัดลำดับการทำงานว่าอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้
  5. หมั่นอัพเดทจุดประสงค์ของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ การมีจุดประสงค์การทำงานที่อัพเดทตลอดเวลาเป็นการช่วยให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่หรือพยายามอย่างหนักในการทำนี้สอดคล้องกับเป้าหมายหรือไม่
  6. เริ่มการพูดคุยกันด้วยจุดประสงค์ของการประชุม การประชุมเพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องจุดประสงค์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้นั้นมีความแตกต่างอย่างมากกับการประชุมที่เน้นเรื่องความเข้าใจเป้าหมายและแรงบันดาลใจทางอาชีพ การกำหนดจุดประสงค์ร่วมกันจะทำให้แน่ใจได้ว่าทั้งคุณและผู้จัดการของคุณเข้าใจตรงกัน และสิ่งนี้ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ
  7. ถามคำถามที่ช่วยเพิ่มคุณค่า เคล็ดลับหนึ่งที่สำคัญสำหรับพนักงานที่สามารถถามได้ในระหว่างการประชุม One-on-One นี้คือ “งานอะไรที่สำคัญที่สุดในสัปดาห์นี้ที่ฉันสามารถช่วยคุณ (หัวหน้า) ได้” การช่วยให้งานของผู้จัดการของคุณง่ายขึ้นนี้ทำให้คุณมีค่ามากยิ่งขึ้นสำหรับเขา
  8. มุ่งเป้าไปที่การสร้างการค้นพบส่วนบุคคล นำรายการที่เตรียมมาพูดคุยกันถึงไอเดียและผลลัพธ์ที่มุ่งมาดปรารถนา เช่น “คำว่าดีเยี่ยมของโปรเจคนี้เรามองว่าเป็นอย่างไร” “อะไรจะเปลี่ยนไปเมื่อโปรเจคนี้สำเร็จลง” สิ่งนี้สร้างการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความน่าจะเป็น ที่ไม่ใช่แค่เนื้อหาในรายการ
  9. โฟกัสไปที่อะไรที่ผู้จัดการอยากจะรู้จากคุณ วิธีการนี้นำไปสู่การรับฟังอย่างตั้งใจและมีความรู้สึกร่วมในสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร ทำให้นึกถึงประโยคที่ว่า “คุณได้รับสิ่งที่คุณต้องการถ้าคุณช่วยให้ผู้อื่นได้รับสิ่งที่เขาต้องการ”
  10. ให้ฟีดแบ็กกับผู้จัดการของคุณ ถ้าคุณไม่ได้รับสิ่งที่คุณต้องการสำหรับการทำงานจากผู้จัดการของคุณ ก็บอกให้เขารู้ ผู้จัดการของคุณต้องการให้คุณประสบความสำเร็จ ดังนั้นเขาต้องช่วยเหลือคุณอย่างเต็มที่ ถ้าคุณบอกกับผู้จัดการของคุณว่าอะไรที่ช่วยคุณมากที่สุดในการประชุม One-on-One นี้ คุณมีแนวโน้มที่จะได้รับสิ่งนั้น และนี่ก็คือการประชุมที่มีประโยชน์

สำหรับหัวหน้าทีมหรือผู้จัดการ

  1. กำหนดจุดประสงค์ของการประชุม การระบุจุดประสงค์ของการประชุมที่ชัดเจนว่าการประชุมมีขึ้นเพื่ออะไรและมีเรื่องอะไรเป็นพิเศษที่อยากจะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันนั้น ช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบว่าจะเริ่มต้นบทสนทนาตรงไหนและจะจบลงที่เรื่องอะไร นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการควบคุมเวลาการประชุมให้เป็นไปตามกำหนดการได้สะดวกขึ้นอีกด้วย  โดยจุดประสงค์ของการประชุม One-on-One คือการค้นหาปัญหาที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงคุณจำเป็นต้องมีการประชุม One-on-One กับพนักงานเป็นประจำ และการประชุม One-on-One นี้เป็นที่ที่ดีแห่งหนึ่งในการกำหนด OKRs ซึ่งก็คือเฟรมเวิร์กของการกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ได้รับความนิยม และตรวจสอบให้แน่ใจได้ว่าข้อดีและข้อเสียของ OKRs ของแต่ละคนนั้นไม่ขัดแย้งกับของคนอื่น ๆ ภายในทีม
  2. จัดทำตารางการประชุมที่ระบุหัวข้อที่จะพูดคุยกันและระยะเวลาในการประชุมที่ชัดเจน การประชุมในฐานะที่เป็นผู้จัดการควรจะเป็นการประชุมแบบตัวต่อตัว และใช้เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง และอย่างน้อยควรจัดการประชุมนี้อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรมีการจัดประชุมเป็นรายสัปดาห์
  3. จัดการประชุมในเวลาที่เหมาะสม การเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมก็คือช่วงเวลาที่ผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมเข้าร่วมและไม่ติดสิ่งใด ทำให้สามารถเตรียมตัวได้ล่วงหน้าและมีสมาธิกับการประชุม สิ่งเหล่านี้จะทำให้การประชุมดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งที่น่าสนใจจากงานการศึกษาข้อมูลของ YouCanBookMe บริษัทซอฟแวร์ในประเทศอังกฤษ ก็คือ เวลาที่เหมาะที่จะจัดการประชุมมากที่สุดคือวันอังคาร ช่วงเวลาบ่าย 2:30 โมง โดยทางทีมงานได้วิเคราะห์ข้อมูลจากจดหมายเชิญการประชุมถึง 530,000 ครั้งและพบว่าเวลาที่คนส่วนใหญ่ไม่มีการประชุมคือเวลา บ่าย 2:30 โมงของวันอังคาร
  4. ร่างตารางการประชุม การกำหนดรายละเอียดในตารางการประชุมที่ดีควรรวมถึงเป้าหมายของการประชุม ว่าทำไมเราถึงต้องมีการประชุม อะไรที่คุณต้องการเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายและใครควรที่จะอยู่ในการประชุมนี้บ้าง และหัวข้อใดที่ต้องการจะพูดคุยกันในที่ประชุม รวมไปถึงระบุเวลาให้ชัดเจน สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมรู้ล่วงหน้าว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร และเมื่อใดที่ต้องมีส่วนร่วมในการนำเสนอในที่ประชุม
  5. ให้มีคนดูแลเรื่องสรุปการประชุม โดยสามารถเริ่มได้จากการสรุปการประชุมว่าอะไรที่เราพูดคุยกันในการประชุมและจบด้วยรายการการดำเนินการในขั้นต่อไป ซึ่งสิ่งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการติดตามผลการดำเนินการ และเป็นสิ่งช่วยเตือนความจำในสิ่งที่เคยพูดคุยกันไปแล้วและสิ่งที่ช่วยจัดลำดับความสำคัญของงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

สำหรับองค์กร

  1. สื่อสารถึงความสำคัญและประโยชน์ของการประชุม One-on-One
  2. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการประชุม One-on-One ในแต่ละทีม โดยเริ่มจากการทำให้ผู้นำและผู้บริหารระดับสูงมีส่วนร่วมก่อน และให้ผู้นำสื่อสารกับพนักงานทั้งองค์กร
  3. จัดหาอุปกรณ์ที่ช่วยให้การประชุม One-on-One เกิดขึ้นได้ง่ายและสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการจองห้องประชุม ซอฟแวร์สำหรับการประชุม และเครื่องมืออื่น ๆ
  4. ใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามพนักงานในองค์กรในการขับเคลื่อนกิจกรรมการประชุม One-on-One เช่น ถ้าข้อมูลส่วนใหญ่บ่งบอกว่าพนักงานได้รับฟีดแบ็กหรือคำแนะนำที่ไม่เพียงพอจากผู้จัดการของตน ข้อมูลนี้สามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมให้ผู้นำและผู้บริหารสนับสนุนผู้จัดการทุกทีมให้มีการประชุม One-on-One เพื่อแก้ไขปัญหานี้

ทำให้การประชุมตัวต่อตัวมีประสิทธิภาพ ด้วยข้อมูลเชิงลึกและเรียลไทม์ของพนักงาน

ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

เคล็ดลับการประชุม One-on-One ที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้จัดการ

การประชุมแบบ One-on-One ที่มีประโยชน์ต้องเริ่มจากความต้องการพื้นฐานในการอยากรู้จักและเรียนรู้สมาชิกในทีมของคุณให้มากขึ้น การสร้างสภาพแวดล้อมแบบเปิดที่มีการแชร์ความคิดเห็นกันอย่างแท้จริงจะช่วยให้หัวหน้าทีมหรือผู้จัดการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและได้รับฟีดแบ็กที่สามารถนำไปช่วยพัฒนาและดึงศักยภาพสูงสุดของสมาชิกภายในทีมออกมา และท้ายที่สุดคือช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพโดยรวมของทีม

โดยเคล็ดลับในการประชุม One-on-One สำหรับหัวหน้าทีมหรือผู้จัดการ มีดังนี้

  1. จัดตารางเวลาที่แน่นอนในการประชุม One-on-One โดยความถี่ของการประชุมนี้ขึ้นกับขนาดของทีมว่ามีขนาดเล็กหรือใหญ่ หรือคนในทีมมีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด และไม่สำคัญว่าการประชุมจะมีบ่อยแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญคือการประชุมนี้ต้องถูกกำหนดลงในปฏิทินของผู้จัดการและเป็นกิจกรรมที่มีการทำซ้ำ การกำหนดตารางเวลาที่แน่นอนนี้ช่วยให้ลูกทีมทราบว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรและลดการโต้แย้งเรื่องการรบกวนเวลาขณะทำงาน และอีกสิ่งที่สำคัญมากๆ คือ อย่ายกเลิกการประชุมแบบกระชั้นชิด เพราะแทนที่ลูกทีมของคุณจะรู้สึกถึงการให้ความสำคัญของหัวหน้าทีมในการจัดประชุม one-on-one แต่อาจทำให้ลูกทีมรู้สึกได้ว่าพวกเขาไม่ได้มีความสำคัญจริง ๆ
  2. เตรียมตัวเรื่องที่จะพูดคุยกันในการประชุม One-on-One ในการประชุมโดยทั่วไปต้องมีการเตรียมวาระการประชุม แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ในการประชุม One-on-One ไม่จำเป็นต้องเป็นทางการขนาดนี้ ผู้จัดการและลูกทีมเพียงแค่จดรายการที่ต้องการจะคุยกันในมีตติ้งและกำหนดเวลาคร่าว ๆ ในแต่ละหัวข้อ ขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญของหัวข้อนั้น ๆ  สิ่งนี้จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการประชุมนี้สามารถยืดหยุ่นได้ โดยที่การประชุมที่ดีที่สุดคือการที่ผู้ร่วมประชุมอยู่ในโหมดร่วมกันสร้างสรรค์ นั่นก็คือทุกคนสามารถออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมและหัวข้อต่าง ๆ ร่วมกันได้
  3. ใส่ใจและให้เวลากับการพูดคุยกันในการประชุม One-on-One อย่าคิดว่าการประชุม One-on-One ก็เป็นแค่อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในรายการที่ต้องทำ แต่ให้พิจารณาว่าการประชุมนี้เป็นช่วงเวลาอันล้ำค่าของการ connect กับลูกทีม หรือให้คิดว่า คุณในฐานะผู้จัดการอยู่ที่นี่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนคนหนึ่งซึ่งก็คือลูกทีมของคุณนั่นเอง และผู้จัดการควรให้ความสำคัญและใส่ใจกับการประชุม โดยปิดเครื่องมือการสื่อสารรวมถึงเสียงจากคอมพิวเตอร์เพื่อป้องกันการรบกวนระหว่างการประชุม
  4. เริ่มต้นจากสิ่งดี ๆ หรือเรื่องราวเชิงบวก ในการเริ่มต้นการประชุมควรเริ่มด้วยการแชร์เรื่องราวดี ๆ เช่นการกล่าวชื่นชมและขอบคุณสำหรับความตั้งใจในการทำงาน โดยการพูดคุยกันด้วยเรื่องดี ๆ เป็นวิธีที่ดีในการเริ่มการประชุม One-on-One เพราะสิ่งนี้ช่วยสร้างพลังงานเชิงบวกให้กับผู้ร่วมประชุม
  5. แก้ไขปัญหาร่วมกัน การประชุม One-on-One นี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะตอบปัญหาเชิงกลยุทธ์และแก้ไขปัญหาร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้จัดการจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการถามคำถามกับการรับฟังสิ่งที่เพื่อนร่วมงานหรือลูกทีมพูด และจดจำไว้เสมอว่า คุณอยู่ตรงนี้เพื่อเรียนรู้ ผู้จัดการบางคนขอให้ลูกทีมสร้างรายการของความท้าทายที่เจอพร้อมทั้งวิธีการแก้ไขมาให้ดูก่อนล่วงหน้า สิ่งนี้ทำให้ลูกทีมได้ผ่านกระบวนการแก้ไขปัญหามาก่อนล่วงหน้า และหลังจากนั้นผู้จัดการสามารถให้ฟีดแบ็กเชิงสร้างสรรค์เพิ่มเติมได้
  6. ถามคำถามเกี่ยวกับความก้าวหน้าในสายงาน แม้ว่าการพูดคุยกันในเรื่องกลยุทธ์จะมีความสำคัญแต่เรื่องส่วนบุคคลของพนักงานก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน การประชุมนี้ยังอาจเป็นโอกาสที่ช่วยให้สมาชิกในทีมมีความคิดที่รอบคอบขึ้นเกี่ยวกับอาชีพและชีวิตของพวกเขา ผู้จัดการบางคนพูดถึงเรื่องความก้าวหน้าในสายงานในทุกการประชุม และถ้าคุณมีแผนจะพูดถึงเรื่องความก้าวหน้าในสายงานกับลูกทีม คุณต้องรอบคอบเพราะเรื่องนี้ต้องการการไตร่ตรองและคิดทบทวน โดยการ ให้เวลาและพื้นที่แก่ลูกทีมของคุณได้คิดว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ ก่อนที่คุณจะพูดประเด็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าในสายอาชีพขึ้นมา นอกจากนี้เมื่อมีการพบกันแบบ Face-to-Face แล้ว ผู้จัดการควรถามคำถามปลายเปิดโดยตรงต่อเรื่องเป้าหมายของลูกทีม สิ่งนี้ทำให้ลูกทีมมีแรงบันดาลใจและทำงานในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายของทีมและองค์กร
  7. พูดชื่นชมและขอบคุณกัน การจบการประชุมก็จะคล้ายกันกับการเริ่มต้นการประชุม คือทำให้เป็นบรรยากาศเชิงบวก โดยควรปิดการประชุมด้วยการขอบคุณกัน โดยไม่จำเป็นต้องพูดยืดยาว แค่เพียงหยุดสักครู่ก่อนพูดว่า “ขอบคุณ” แค่เพียงห้าวินาที และการเน้นย้ำด้วยคำดี ๆ นั้นมีความหมายต่อลูกทีม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นคำพูดที่ออกมาจากใจจริง ๆ หรือเพียงแค่คุณสามารถพูดเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกทีมทำได้ดี อย่างเช่น ฉันรู้สึกซาบซึ้งและเห็นคุณค่าในสิ่งที่คุณทำ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทรงพลังอย่างมาก

เทมเพลตคำถามที่ใช้ในการประชุม One-on-One

🖐🏻
รูปแบบการประชุม: เช็กอินทั่วไป
จุดประสงค์: เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจได้, ฉลองความสำเร็จในทีม, และแก้ไขปัญหาแต่เนิ่น ๆ
ชุดคำถาม:
- คุณสบายดีไหม เดือน/สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
- คุณอยากจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องอะไรในวันนี้
- คุณรู้สึกภาคภูมิใจในเรื่องอะไร มีอะไรที่ขัดขวางการทำงานคุณอยู่หรือเปล่า
- คุณมีเรื่องที่ต้องการการสนับสนุนหรือช่วยเหลือไหม
- ฉัน(หัวหน้า) ช่วยเหลือคุณได้อย่างไรบ้าง มีอะไรอีกไหมที่คุณอยากจะพูดคุยกันในวันนี้
👧🏻
รูปแบบการประชุม: ประชุมครั้งแรกกับสมาชิกใหม่
จุดประสงค์: เพื่อวางรากฐานความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจได้
ชุดคำถาม:
- เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวคุณให้ฟังหน่อย อะไรที่ทำให้คุณสนใจที่จะทำงานในตำแหน่งนี้
- อะไรคือแรงบันดาลใจของคุณทั้งในด้านหน้าที่การงานและด้านส่วนตัว
- อะไรที่ทำให้คุณมีพลัง และอะไรที่ดูดพลังของคุณ
- ตำแหน่งคุณคืออะไร และอะไรที่คุณคาดหวังจากฉัน (หัวหน้า)
- เรามาคุยกันเกี่ยวกับทีมของเราและวิธีการทำงานร่วมกันในทีม
- เรามาคุยกันว่าทำไมเราต้องมีการประชุม one-on-one และเราต้องทำอย่างไรบ้าง
- มีอะไรอีกไหมที่คุณอยากจะพูดคุยกันในวันนี้
🤵🏻
รูปแบบการประชุม: ประชุมแบบข้ามลำดับ (ระหว่างพนักงานกับหัวหน้าที่ไม่ใช่หัวหน้าหรือผู้จัดการที่ขึ้นตรง)
จุดประสงค์: เพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างลำดับชั้นการทำงานและรับข้อมูลเชิงลึกภายในองค์กรเพิ่มมากขึ้น
ชุดคำถาม:
- อะไรที่คุณรู้สึกภาคภูมิใจ
- ไอเดียอะไรที่คุณอยากนำเสนอให้ทีมและบริษัทของเรา
- คุณรู้สึกอย่างไรกับวิสัยทัศน์และการจัดลำดับความสำคัญสิ่งต่าง ๆ ของบริษัทเรา
- อะไรที่หัวหน้าหรือผู้จัดการของคุณสามารถทำได้ดีกว่านี้เพื่อส่งเสริมคุณใน
- ตำแหน่งที่คุณทำอยู่ มีอะไรที่ขัดขวางการทำงานของคุณอยู่หรือไม่
🎯
รูปแบบการประชุม: ประชุมเพื่อตั้งเป้าหมาย
จุดประสงค์: เพื่อฝึกการตั้งเป้าหมายและฝึกการทำงานเป็นทีม
ชุดคำถาม:
- เรามาสรุปกันเร็ว ๆ ว่าทำไมเราถึงต้องตั้งจุดประสงค์และเราตั้งจุดประสงค์กันอย่างไร
- จุดประสงค์ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไรบ้าง
- เรามาดูถึงลำดับความสำคัญของทีมและของบริษัทกัน
- เรามาพูดคุยเกี่ยวกับจุดประสงค์ปัจจุบันและเป้าหมายการพัฒนาส่วนบุคคลกัน
- เรามาตกลงกันในขั้นตอนถัดไปว่าจะทำอะไรต่อไป
🚀
รูปแบบการประชุม: สนทนาเกี่ยวกับการเติบโต
จุดประสงค์: เพื่อให้พนักงานแต่ละคนสะท้อนความคิดและบอกถึงสิ่งที่สามารถทำให้ตนเองเติบโต
ชุดคำถาม:
- จากการที่คุณได้รับฟีดแบ็กล่าสุด มีเรื่องหรือหัวข้อใดที่คุณอยากจะพัฒนาตนเองเพิ่มเติมหรือไม่
- อะไรคือขั้นตอนถัดไปที่ทำให้คุณบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้
- ส่วนไหนของงานที่คุณรู้สึกสนุกที่สุด อะไรเป็นแรงบันดาลใจ แรงจูงใจ และทำให้คุณมีพลัง
- ส่วนไหนของงานที่คุณรู้สึกสนุกน้อยที่สุด อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกท้อแท้หรือเบื่อหน่าย ถ้าเป็นไปได้มีงานอะไรสักอย่างไหมที่คุณอยากจะหยุดทำมัน
- คุณวางแผนชีวิตในอีก 2 ปีข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง
⚖️
รูปแบบการประชุม: สรุปการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน
จุดประสงค์: เพื่อทบทวนประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีและสามารถแชร์การเรียนรู้
ชุดคำถาม:
- คุณรู้สึกอย่างไรหลังจากการทำ Performance Review หรือการประเมินประสิทธิภาพการทำงานในครั้งนี้
- คุณคิดถึงอะไรในขณะที่อ่านฟีดแบ็กของฉัน (หัวหน้า) และฟีดแบ็กที่ได้รับจากเพื่อนร่วมงานของคุณ
- มีอะไรที่คุณอยากได้คำอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นหรือเปล่า
- มีอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกแปลกใจหรือตกใจจากการประเมินในครั้งนี้หรือเปล่า
- อะไรคือสิ่งที่คุณได้รับหลัก ๆ จากการประเมินครั้งนี้
- คุณมีฟีดแบ็กอะไรไหมเกี่ยวกับวิธีการสื่อสารฟีดแบ็กของฉัน (หัวหน้า)
💡
รูปแบบการประชุม: ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน
จุดประสงค์: เพื่อทำความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงาน
ชุดคำถาม:
- คุณเข้าใจชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เราคาดหวังจากคุณใช่ไหม คุณคิดว่าความคาดหวังเหล่านั้นสามารถทำได้จริงใช่ไหม
- คุณรู้ใช่ไหมว่าบทบาทหน้าที่ของคุณสอดคล้องกับภาพรวมของทีมและองค์กร และทำไมงานของคุณถึงมีความสำคัญต่อองค์กร
- คุณได้รับฟีดแบ็กในที่ทำงานเพียงพอหรือเปล่า ถ้าไม่ คุณคิดว่าทำไมคุณถึงได้รับฟีดแบ็กที่ไม่เพียงพอ แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคุณจะได้รับฟีดแบ็กเพิ่มมากขึ้น
- เมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือ คุณรู้สึกสะดวกใจในการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือไม่
- อะไรที่มีผลกระทบอย่างมากและขัดขวางการทำงานของคุณ (ตัวอย่างเช่น กระบวนการภายใน ปัญหาการบริหารเวลา การขาดแคลนทรัพยากรหรือขาดข้อมูล)
- ขั้นตอนดำเนินการและ/หรือจุดประสงค์ที่เราได้ตกลงร่วมกันคืออะไร

สรุป

การประชุม One-on-One เป็นเครื่องมือที่ผู้จัดการจะขาดไม่ได้ในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับคนในทีมและงานของสมาชิกภายในทีมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้จัดการแล้วนั้น แต่การประชุมนี้มีประโยชน์ต่อทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นตัวพนักงานเอง ตลอดไปจนถึงระดับองค์กรในเรื่อง Employee Engagement, Talent Retention, จนถึงปัญหาอย่าง Turnover

ถ้ามีการจัดการหรือการเตรียมพร้อมที่ไม่ดีในการประชุม One-on-One นี้สามารถนำไปสู่ความไม่พอใจที่อาจส่งผลเสียมากกว่าเป็นการพัฒนาเชิงบวกขององค์กร ดังนั้นการเข้าใจถึงจุดประสงค์ที่แท้จริง การเตรียมตัวที่ดีในการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการประชุม One-on-One ที่ทำให้ทีมมีความสัมพันธ์ที่ดีและมี Productivity เพิ่มสูงขึ้น และขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน

Subscribe to Smiles at Work | The Official Happily.ai Blog newsletter and stay updated.

Don't miss anything. Get all the latest posts delivered straight to your inbox. It's free!
Great! Check your inbox and click the link to confirm your subscription.
Error! Please enter a valid email address!