รักษา Talent ไว้ให้นานด้วยการพัฒนาผู้จัดการในองค์กร

พนักงานไม่ได้ลาออกจากองค์กร แต่พวกเขาลาออกจากผู้จัดการหรือหัวหน้าทีมต่างหาก การลงทุนเพื่อพัฒนาหัวหน้าทีมในองค์กรจะช่วยรักษาคนเก่งไว้ได้นาน
รักษา Talent ไว้ให้นานด้วยการพัฒนาผู้จัดการในองค์กร
Photo by LinkedIn Sales Solutions / Unsplash

หลายท่านอาจจะเคยผ่านตากับผลการศึกษาของ Gallup มาบ้าง และทราบว่า ที่จริงแล้วพนักงานไม่ได้ลาออกจากองค์กร แต่พวกเขาลาออกจากผู้จัดการหรือหัวหน้าทีมต่างหาก ถึงแม้จะเป็นงานศึกษาเมื่อ 10 ปีที่แล้วแต่ก็ยังเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้

ท่ามกลางปรากฎการณ์การลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ทั้งปัญหาสุขภาพจิต (Mental Health) และ Well-being รวมถึงเศรษฐกิจอันผันผวน ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ บุคคลสำคัญที่เคยได้รับการกล่าวถึงน้อยจนเกินไปอย่าง “หัวหน้าทีม” คือคนที่พนักงานจะหันไปหาเพื่อไถ่ถามทิศทางของทีมและขอการสนับสนุนช่วยเหลือ แบบสำรวจของ Saleforce ชี้ว่า “จากที่พนักงานเคยคิดว่าข้อมูลขององค์กรถูกสื่อสารลงมาจากระดับผู้บริหาร ปัจจุบันพนักงานจัดอันดับให้หัวหน้าทีมของตนมาก่อนระดับผู้บริหารแทน” ยิ่งไปกว่านั้น GoodHire ยังพบว่า 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะลาออกจากงานเพราะเจอหัวหน้าทีมที่แย่ ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่า หัวหน้าทีมมีบทบาทสำคัญอย่างมากในทุก ๆ องค์กร

แต่น่าเสียดาย มีเพียงหัวหน้าทีมบางคนที่พร้อมเฉิดฉายในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ เพราะพวกเขาหลายคนยังได้รับการฝึกฝนและพัฒนาไม่เพียงพอรวมทั้งมีภาระงานที่มากเกินรับไหว และยังต้องนำทีมผ่านสถานการณ์ที่สับสนและโกลาหลไปด้วยกัน สถิติชี้ว่า 43% ของผู้จัดการบอกว่า ตนเองตกอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าทุกตำแหน่งในองค์กร

ในฐานะผู้นำองค์กร คุณต้องลงทุนเพื่อพัฒนาหัวหน้าทีมในองค์กรของคุณ เพื่อที่จะรักษาหัวหน้าทีมและพนักงานที่ทำงานร่วมกับพวกเขาไว้ให้นานที่สุด โดยบทความของ Harvard Business Review นำเสนอ 3 แนวทางสำคัญไว้ดังต่อไปนี้

1. ยกระดับบทบาทของหัวหน้าทีม

Ella Washington ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Georgetown และเจ้าของหนังสือ The Necessary Journey กล่าวว่า “การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและคนในทีมมักถูกมองเป็นงานเสริมสำหรับหัวหน้าทีม องค์กรต้องบอกให้ชัดเจนว่า เรื่องนี้คืองานหลักของคนเป็นหัวหน้า”

ตัวอย่างเช่น ในโปรแกรมอบรมผู้นำของบริษัท General Mills หัวหน้างานได้รับทราบค่านิยมองค์กร (Core Value) และเรียนรู้แนวทางการนำ Core Value ไปใช้งานจริง หลังจากนำไปปรับใช้พนักงานในทีมของหัวหน้าคนนั้น ๆ ก็จะให้ Feedback กลับไป โปรแกรมข้างต้นนอกจากจะยกระดับประสบการณ์การเป็นหัวหน้าทีมแล้ว ยังช่วยสร้างบทสนทนา สร้างความสัมพันธ์ในทีมและเปิดโอกาสให้หัวหน้าทีมได้ทบทวนตนเองผ่าน Feedback อีกด้วย ผลที่ได้ก็คือพนักงานรู้สึกได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้า ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างความผูกพันต่องานและองค์กร (Employee Engagement) แต่ยังช่วยเรื่องการรักษาพนักงาน (Retention) อีกด้วย

ดังนั้น ผู้นำองค์กรต้องทำให้หัวหน้างานตระหนักว่า การสร้าง Employee Engagement คือหน้าที่หลักของหัวหน้าทีม

2.สร้างพื้นที่ในการเติบโตให้หัวหน้าทีม

การบริหารทีมในช่วงเวลาแห่งความสับสนเช่นนี้คือความท้าทายของหัวหน้าทีมทุกคน ไม่ว่าจะมีประสบการณ์ในการบริหารคนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม นอกจากนี้การเลื่อนขั้นขึ้นเป็นหัวหน้าทีมหลายครั้งก็เพราะพวกเขารับผิดชอบและทำงานของตนได้เป็นอย่างดี น้อยคนที่จะถูกเลื่อนขั้นเพราะมีทักษะในการแนะแนวและถ่ายทอด จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดโอกาสให้หัวหน้าทีมได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการโค้ชและการเป็นที่ปรึกษา

ผู้นำควรเริ่มจากการสร้างโอกาสให้หัวหน้าทีมได้พูดคุยเรื่องที่มีความสำคัญกับทีม เช่น เรื่อง Culture หรือ วัฒนธรรมองค์กร และ Core Value เป็นต้น หรืออาจจะเป็นประเด็นที่จับต้องได้มากขึ้น อาทิ การพัฒนาสินค้าและบริการ และการขาย ถัดจากนั้นก็ดึงหัวหน้าทีมทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในบทสนทนาข้างต้น และจงใช้ Core Value เสมือนเข็มทิศนำทางในการสร้างพื้นที่และโอกาสให้หัวหน้าทีมได้พัฒนาและเติบโต ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเจ้าขององค์กร ซึ่งจะช่วยรวมหัวหน้าทีม คนในทีมและองค์กรเข้าไว้ด้วยกัน

3. สนับสนุนการปรึกษาหารือระหว่างหัวหน้าทีมในองค์กร

กระทั่งหัวหน้าทีมที่มีประสบการณ์ก็ต้องพบกับความท้าทายและมีปัญหามากมายให้ต้องแก้ไข การช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องคือสิ่งสำคัญท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ไม่สิ้นสุด

บริษัท Upwork เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ หัวหน้าทีมจะมีประชุมระหว่างหัวหน้าทีมด้วยกันทุกเดือน เพื่อแบ่งปันข้อมูลแก่กันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พยายามผลักดันอยู่ การส่งเสริม DEI หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาพยายามทำให้เกิดขึ้น มากไปกว่านั้น การประชุมนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากระดับบริหาร เพื่อสื่อสารแก่หัวหน้าทีมทุกคนว่า บทสนทนาที่เกิดในที่ประชุมฝ่ายบริหารรับรู้และสนับสนุนอย่างเต็มที่ CEO ของบริษัทยังกล่าวด้วยว่า “ผมมองว่าเป็นหนทางที่ดีในการสร้าง Engagement หรือการมีส่วนร่วม และวงประชุมที่คอยพูดคุยปรึกษากันแบบนี้ก็จำเป็น เพราะหัวหน้าทีมต้องเจอปัญหามามากเหลือเกิน”

การสนับสนุนช่วยเหลือระหว่างกันเช่นนี้สร้างประโยชน์แก่องค์กรอย่างมาก ทั้งการได้รับรู้ข้อมูลจากมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย และการเปิดโอกาสให้ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ในพื้นที่ที่ปลอดภัย นอกจากนี้การให้หัวหน้าทีมได้ฝึกฝนทักษะของพวกเขาก็คือโอกาสในการเติบโตและก้าวหน้าในชีวิตการทำงานอีกด้วย

3 แนวทางสำคัญพัฒนาผู้จัดการ เพื่อรักษา Talent ไว้ในองค์กร

การเป็นหัวหน้าทีมในเวลานี้เป็นเรื่องท้าทายอย่างไร้ข้อสงสัย แต่งานของ Gallup ก็ย้ำเตือนเราว่า “หัวหน้าทีมคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้าง Engagement ของทีมและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือ Performance ของทีม โดย 70% ของความแปรปรวนที่เกิดกับ Engagement ทีม ก็มาจากหัวหน้าทีมเองนั่นแหละ”

ถึงเวลาแล้วที่องค์กรจะต้องลงทุนไปกับการพัฒนาหัวหน้าทีมทุกคนในองค์กร โดยการเพิ่มทักษะให้แก่พวกเขาและเข้าช่วยเหลือพวกเขาในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในทีม


เราช่วยคุณได้นะ

Happily.ai ช่วยองค์กรสร้างโอกาสในการฝึกฝน Human Skill อาทิ Critical Thinking, Empathy, Self-awareness, Optimism ผ่านการตอบคำถามและให้ Feedback รายวัน เรายังช่วยองค์กรสร้างวัฒนธรรมการให้และรับ Feedback และพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน ไม่มีทางลัดใดในการพัฒนาทักษะให้แก่หัวหน้างาน ความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็เฉกเช่นเดียวกัน แต่เราช่วยคุณประกอบชิ้นส่วนสำคัญเข้าด้วยกัน (ภายในไม่กี่วัน ไม่ใช่หลักเดือน!) เราขอเชิญคุณเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราเพื่อเรียนรู้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่ทำงานของคุณ ให้ความสำคัญกับ Human Skill ได้ตั้งแต่วันนี้!

แหล่งอ้างอิง:

https://blog.happily.ai/th/ceo-guide-in-creating-an-organization-that-promotes-dei/

https://futureforum.com/research/pulse-report-fall-2022-executives-feel-strain-leading-in-new-normal/

https://globalresponsibility.generalmills.com/PDF/general_mills-global_responsibility_2022_0057.pdf

https://www.goodhire.com/resources/articles/horrible-bosses-survey/

https://hbr.org/2022/12/to-retain-your-best-employees-invest-in-your-best-managers

https://www.inc.com/marcel-schwantes/quitting-job-bad-boss-manager.html

https://www.wsj.com/articles/the-war-to-define-what-work-looks-like-11666411221

Subscribe to Smiles at Work | The Official Happily.ai Blog newsletter and stay updated.

Don't miss anything. Get all the latest posts delivered straight to your inbox. It's free!
Great! Check your inbox and click the link to confirm your subscription.
Error! Please enter a valid email address!