หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้นคืออัตราการลาออกของพนักงานที่เพิ่มขึ้น การวิจัยกับพนักงานที่เพิ่งออกจากงานเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่าเหตุผลของการลาออกของพนักงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับผู้จัดการของพวกเขา ในขณะที่ผู้จัดการและผู้นำมักประเมินปัจจัยของการลาออกของพนักงานผิดไป การศึกษาโดย Gallup (2015) แสดงให้เห็นว่า 50% ของคนอเมริกันลาออกจากงานเพราะผู้จัดการ ผู้จัดการไม่ได้มีความพยายามในการสื่อสาร ผลักดัน และส่งเสริมการเติบโตของพนักงานมากเพียงพอ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ผู้จัดการจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ปัญหาอัตราการลาออกของพนักงานที่เพิ่มขึ้นนี้ หนึ่งวิธีที่ผู้นำองค์กรและผู้จัดการสามารถทำเพื่อลดอัตราการลาออกของพนักงานได้คือ การส่งเสริมประสิทธิภาพของพนักงาน (Employee Effectiveness) นั่นเอง
Employee Effectiveness คืออะไร?
Employee Effectiveness คือ ความสามารถของพนักงานในการสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการด้วยวิธีที่ดีที่สุด โดยสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความสามารถของพนักงานในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร รวมไปถึงการผลิตผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูง การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี และการเพิ่มรายได้และผลกำไรอีกด้วย
ทำไมผู้นำองค์กรและผู้จัดการจึงควรให้ความสนใจ?
ทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดขององค์กรคือบุคลากร และบุคลากรขององค์กรส่วนใหญ่ก็คือพนักงาน งานวิจัยต่างแสดงให้เห็นว่าพนักงานที่มีประสิทธิภาพมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ดังนั้นการเพิ่ม Employee Effectiveness ไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนการเติบโตของพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรอีกด้วย
พนักงานที่มีประสิทธิภาพมีลักษณะแบบไหน?
พนักงานที่มีประสิทธิภาพจะปฏิบัติงานและส่งงานได้ตามความคาดหมาย ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร และมีความต้องการที่จะอยู่กับองค์กรต่อไปมากขึ้น พนักงานที่มีประสิทธิภาพมักจะเป็นคนเก่ง (Talent) ขององค์กรหรือคนที่มีความสามารถในการทำงานเกินกว่าที่ได้รับมอบหมายและเหนือความคาดหมายขององค์กร
พนักงานที่มีประสิทธิภาพมีลักษณะดังนี้:
- ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ: เป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี
- ทักษะการคิดวิเคราะห์: สามารถตัดสินใจได้ดีโดยเฉพาะเมื่ออยู่ภายใต้ข้อจำกัด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร
- การทำงานเป็นทีม: ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี แบ่งปันความรู้และเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน
- ความซื่อสัตย์สุจริต: มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองโดยทั้งสร้างสรรค์ผลงานที่ยอดเยี่ยมและมีความประพฤติที่ดี
บทบาทของหัวหน้าในการส่งเสริม Employee Effectiveness
ความชัดเจนของบทบาทหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญต่อ Employee Effectiveness พนักงานที่มีความเข้าใจในบทบาทของตนเองอย่างชัดเจน จะรู้ว่าหน้าที่ของเขาคืออะไร ควรจัดลำดับความสำคัญของงานอย่างไร และควรปฏิบัติอย่างไรในแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ผู้นำมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ความชัดเจนในบทบาทผ่านการให้ฟีดแบ็กและการตั้งเป้าหมาย เพื่อให้พนักงานสามารถรับผิดชอบต่องานของตนเองและหาวิธีที่จะบรรลุเป้าหมายของพวกเขาได้
มากไปกว่านั้น งานวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ภาวะผู้นำแบบสร้างการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) และ Employee Effectiveness ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสามารถสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้พนักงานทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน ภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทั้งผู้นำและผู้ตามช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการเพิ่มแรงบันดาลใจและขวัญกำลังใจ
องค์ประกอบสี่ประการของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์ (Ideailzation Influence) การสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration Motivation) การคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล (Individualization Consideration) และการกระตุ้นทางปัญญา (Intellectual Stimulation) องค์ประกอบเหล่านี้มีความสำคัญในการส่งเสริม Employee Effectiveness เนื่องจากจะช่วยตอบสนองความต้องการจากภายใน (Intrinsic Needs) ขั้นสูงสุดของพนักงานนั่นก็คือ ความรู้สึกการมีคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) และการตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง (Self-actualization)
ผู้นำการเปลี่ยนแปลงส่งเสริม Employee Effectiveness โดย:
- ทำหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อส่งเสริมให้พนักงานไว้วางใจ ชื่นชม และพิสูจน์ตนเองกับผู้นำของเขา
- ทำให้พนักงานนึกถึงความสำคัญที่เขามีต่อองค์กร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความท้าทายให้พนักงานผลิตผลงานที่ยอดเยี่ยม
- ให้ความเคารพในเอกลักษณ์ ค่านิยม บุคลิกลักษณะนิสัย และความสามารถของพนักงาน เพื่อช่วยให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
- เน้นย้ำเรื่องการเติบโตและการเรียนรู้ โดยส่งเสริมให้พนักงานท้าทายสภาพที่เป็นอยู่และขจัดความกลัวออกจากการทำงาน
บทสรุป
Employee Effectiveness นำไปสู่ทั้งการเติบโตของพนักงานและความสำเร็จขององค์กร พนักงานที่มีประสิทธิภาพมีแนวโน้มที่จะทำงานเกินกว่าที่ได้รับมอบหมายและเหนือความคาดหมายขององค์กรและมีความต้องการที่จะอยู่กับองค์กรต่อไป ผู้นำองค์กรและผู้จัดการควรนำแนวทางปฏิบัติที่ส่งเสริม Employee Effectiveness มาใช้เพื่อช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานและรับประกันผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร
ที่ Happily.ai เราช่วยองค์กรต่างๆ ในการสร้างพนักงานที่มีประสิทธิภาพด้วยการสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการชื่นชมยอมรับกันและกันในองค์กร การให้ฟีดแบ็ก การพัฒนาตนเอง และอื่นๆ โดยในแอปพลิเคชันเราช่วยให้การเช็คอินแบบรายวัน การให้การชื่นชมยอมรับกัน และการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพนักงานและทีมต่อผู้นำและผู้จัดการแบบเรียลไทม์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้เลยที่นี่
เอกสารอ้างอิง
[1] Arwiphawee Srithongrung (2011) The Causal Relationships among Transformational Leadership, Organizational Commitment, and Employee Effectiveness. International Journal of Public Administration, 34(6), 376-388, DOI: 10.1080/01900692.2011.569917
[2] Georgopoulos, B.S. and A.S. Tannenbaum (1957) A Study of Organizational Effectiveness. American Sociological Review, Vol. 22, 534-540
[3] Ghadi, M. Y., Fernando, M., & Caputi, P. (2013). Transformational leadership and work engagement: The mediating effect of meaning in work. Leadership and Organization Development Journal, 34, 532–550. doi:10.1108/LODJ-10-2011-0110
[4] Korejan, M & Shahbazi, Hasan. (2016). An analysis of the transformational leadership theory. Journal of Fundamental and Applied Sciences. 8. 452. 10.4314/jfas.v8i3s.192.
[5] https://www.berlinsbi.com/blog/career-advice/what-makes-an-effective-employee
[6] https://www.effectory.com/knowledge/what-is-employee-effectiveness/
[9] https://www.verywellmind.com/what-is-transformational-leadership-2795313
[10] https://getlighthouse.com/blog/organizational-problems-root-cause-fix/
[11] https://getlighthouse.com/blog/people-leave-managers-not-companies/
[12] https://getlighthouse.com/blog/gallup-employee-engagement-survey-managers/