คู่มือดูแล Well-being พนักงานสำหรับผู้จัดการ

บทบาทของผู้นำมีส่วนสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ในการดูแล Well-being ของพนักงานประสบความสำเร็จ ข้อมูลจาก Mental Health Europe ระบุว่าทัศนคติของผู้จัดการหรือหัวหน้าสายตรงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพียงสิ่งเดียวที่ส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพนักงานหรือสมาชิกในทีม
คู่มือดูแล Well-being พนักงานสำหรับผู้จัดการ
Photo by Austin Distel / Unsplash

ในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจ Well-Being มากขึ้น รวมไปถึงองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องดูแลพนักงานของตนเองในเรื่อง Well-Being ทั้งทางด้านสุขภาพร่างกาย ที่ต้องคอยดูแลพนักงานให้ห่างไกลจากไวรัส และดำเนินมาตรการตามที่รัฐบาลกำหนด และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือการดูแลสุขภาพด้านจิตใจของพนักงานให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิผลที่ดี ช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ในสภาวะการณ์เช่นนี้ที่พนักงานส่วนใหญ่ต้องทำงานจากที่บ้านหรือ Work From Home (WFH) หรือทำงานทั้งจากที่ออฟฟิศและที่บ้านที่เรียกว่า Hybrid Work ซึ่งการทำงานแบบผสมผสานนี้กลายเป็นเทรนด์การทำงานในยุคหลังโควิดอีกด้วย และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทบาทของผู้นำมีส่วนสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ในการดูแล Well-being ของพนักงานประสบความสำเร็จ ข้อมูลจาก Mental Health Europe ระบุว่าทัศนคติของผู้จัดการหรือหัวหน้าสายตรงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพียงสิ่งเดียวที่ส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพนักงานหรือสมาชิกในทีม ดังนั้นในฐานะที่เป็นผู้จัดการ เราสามารถมีส่วนร่วมอย่างมากในการส่งเสริมและสนับสนุน Well-being ให้กับพนักงานหรือสมาชิกในทีมได้โดยศึกษาจากคู่มือฉบับนี้ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

  • Well-being คืออะไร
  • ทำไม Well-being ในที่ทำงานถึงสำคัญ
  • วัดระดับ Well-being ของพนักงานอย่างไร
  • ผู้จัดการส่งเสริม Well-being ของลูกทีมมีขั้นตอนอะไรบ้าง

Well-being คืออะไร

Well-Being หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “ความเป็นอยู่ที่ดี” หรือ “สุขภาวะ” เป็นประสบการณ์ทางด้านสุขภาพ, ความสุข, และความสำเร็จ ซึ่งรวมไปถึงการมีสุขภาพทางด้านจิตใจที่ดี มีความพึงพอใจในชีวิตในระดับที่ดี รู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ และความสามารถในการจัดการกับความเครียด

Well-Being รวมสิ่งที่เป็นเชิงบวกไว้หลายสิ่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกมีความสุข มีสุขภาพที่ดี มีสังคม คนรู้จักและเพื่อนฝูงที่ดี และความรู้สึกมีความหมาย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับความสุขและความพึงพอใจในชีวิต หรือกล่าวสั้น ๆ ได้ว่า Well-Being ซึ่งสามารถอธิบายได้จากการทราบว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับตัวเองและกับชีวิตของตัวเอง โดย Well-being  จะมีทั้งทางด้านร่างกาย, ด้านอารมณ์และจิตใจ, Well-being ในที่ทำงาน, ในการอยู่ร่วมกัน, และทางด้านสังคมหรือชุมชน

ทำไม Well-being ในที่ทำงานถึงสำคัญ

Well-Being ในที่ทำงาน หรือ Well-Being ของพนักงานในองค์กร สัมพันธ์กับชีวิตการทำงาน (Working Life) ในทุกแง่มุม ตั้งแต่คุณภาพและความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ความรู้สึกนึกคิดของพนักงานต่องานของพวกเขา สภาวะแวดล้อมของการทำงาน รวมไปถึงอุณหภูมิความสุขของพนักงานในองค์กร จุดประสงค์ของการวัดค่า Well-Being ในที่ทำงานนี้คือเพื่อให้เราแน่ใจได้ว่าพนักงานมีความปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี มีความพึงพอใจ และรู้สึกผูกพันและมีส่วนร่วมกับองค์กรหรือ Employee Engagement

สถานที่ทำงานที่ดีช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ส่งเสริมความสะดวกสบายและความพึงพอใจให้แก่พนักงาน มีประโยชน์ทั้งต่อพนักงานและองค์กรเอง การลงทุนในเรื่อง Well-Being ของพนักงานสามารถนำไปสู่การเพิ่มความยืดหยุ่นและปรับตัวในการทำงาน การที่พนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรมากขึ้น ลดการลาป่วยของพนักงาน และพนักงานมีประสิทธิภาพและ Productivity ในการทำงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี Well-Being ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการให้ความสำคัญกับ Well-Being ของพนักงานในองค์กรนั้นต้องการความร่วมมือจากคนทั้งองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้จัดการ ด้วยการพยายามทำให้ Well-Being ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ภาวะความเป็นผู้นำ และการจัดการบุคคลากรภายในทีม

ข้อมูลจาก Gallup กล่าวว่า Well-Being ของพนักงานเป็นปัจจัยหลักสำหรับ Productivity ของทีมและองค์กร เมื่อพนักงานมี Well-Being ดีขึ้นแล้วองค์กรจะมีกำไรมากขึ้น เนื่องมาจากพนักงานมีการลาป่วยน้อยลง มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และมีอัตราการ Burnout และอัตราการลาออกน้อยลง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่เชื่อมโยงเรื่อง Well-Being ของพนักงานกับความผูกพันต่อองค์กร (Employee Engagement) พบว่ามีประโยชน์มากมายจากการลงทุนในเรื่อง Well-Being ของพนักงาน โดยงานวิจัยพบว่าพนักงานที่ทำงานในองค์กรที่มีการลงทุนในเรื่อง Well-Being ของพนักงานนั้น

42% มีแนวโน้มที่จะประเมินชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของตนเองสูง

27% มีแนวโน้มที่มีประสิทธิภาพในการทำงานของตนเองได้อย่าง “ดีเยี่ยม”

27% มีแนวโน้มที่องค์กรจะบอกว่าพนักงานเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการทำงานอย่าง “ดีเยี่ยม”

45% มีแนวโน้มที่จะมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับสูง

37% มีแนวโน้มที่จะมีการฟื้นฟูจากความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ หรือความยากลำบากให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้เสมอ

59% มีแนวโน้มที่จะไม่มองหางานใหม่ในบริษัทอื่น ๆ  ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

18% มีแนวโน้มที่จะไม่ย้ายที่ทำงานภายใน 12 เดือน

วัดระดับ Well-being ของพนักงานอย่างไร

การดูแล Well-being ของพนักงานเริ่มจากความเข้าใจถึงสถานะของระดับ Well-being ของพนักงานว่าตอนนี้ในทีมของเราระดับ Well-being ของพนักงานอยู่จุดไหนและมีช่องว่างในการดำเนินการใด ๆ หรือไม่ โดยสามารถทำการวัดระดับ Well-being ได้จากหลากหลายเครื่องมือเช่น การให้พนักงานทำแบบสอบถามความผูกพันองค์กรของพนักงานที่สอดแทรกคำถามเกี่ยว Well-being เข้าไป หรือทำการทดสอบด้วยแบบประเมินผล Well-being โดยเฉพาะ

ทาง Happily.ai ได้มีการพัฒนาและเพิ่มชุดคำถาม WHO-5 ลงไปในระบบ Pulse Survey เพื่อดูค่า Well-Being พื้นฐานของพนักงาน โดย WHO-5 คือแบบสอบถามสั้น ๆ ที่บอกถึงดัชนีชี้วัด Well-Being ของผู้ตอบแบบสอบถาม คิดค้นโดยองค์กรอนามัยโลกหรือ WHO โดยในชุดคำถามจะมี 5 ข้อ จึงเป็นที่มาของชื่อ The 5-item World Health Organization Well-Being Index หรือ ดัชนีชี้วัด Well-Being ขององค์กรอนามัยโลก 5 ข้อ เรียกสั้นๆ ว่า WHO-5

WHO-5 เป็นแบบสอบถามสำหรับประเมินค่า Well-Being ทางจิตวิทยาที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยที่ WHO-5 ประกอบไปด้วย 5 ประโยคง่าย ๆ ที่ไม่สร้างความกังวลหรืออึดอัดใจในการตอบ ซึ่งแบบสอบถามชุดนี้มีมาตรวัดที่มีความถูกต้องเพียงพอ ทั้งในฐานะเครื่องมือคัดกรองภาวะซึมเศร้าและเป็นการวัดผลลัพธ์ในการทดลองทางคลินิก และได้นำไปใช้อย่างประสบความสำเร็จในสาขาการศึกษาที่หลากหลาย

WHO-5 ประกอบด้วยคำถามหรือประโยคที่มีความหมายเชิงบวก ได้แก่

  1. I have felt cheerful and in good spirits  ฉันรู้สึกเบิกบานและอารมณ์ดี
  2. I have felt calm and relaxed  ฉันรู้สึกสงบและผ่อนคลาย
  3. I have felt active and vigorous  ฉันรู้สึกกระฉับกระเฉงและมีพลัง
  4. I woke up feeling fresh and rested  ฉันตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกสดชื่น และได้พักเพียงพอ
  5. My daily life has been filled with things that interest me  ชีวิตประจำวันของฉันเต็มไปด้วย สิ่งที่น่าสนใจ

การคำนวณและเกณฑ์มาตรฐานระดับ Well-being

เนื่องจากองค์กรอนามัยโลกพิจารณา Well-Being เชิงบวกเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ Mental Health หรือสุขภาพทางด้านจิตใจ ดังนั้น WHO-5 จึงแสดงวลีหรือประโยคเชิงบวกทั้งหมด ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามจะให้คะแนนในแต่ละข้อ มีคำตอบให้เลือก 6 ข้อ โดยที่แต่ละข้อจะมีคะแนนตั้งแต่ 5 (ตลอดเวลา) จนถึง 0 (ไม่เคยเลย) คะแนน จากนั้นจะได้คะแนนรวมตั้งแต่ 0 (คะแนนต่ำสุด) ถึง 25 (คะแนนสูงสุด) เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบและเป็นไปตามมาตราวัดทั่วไป จึงทำการคูณคะแนนที่ได้ด้วย 4 เพื่อให้ได้ค่า Well-Being มีคะแนนตั้งแต่ 0 จนถึง 100 คะแนน โดยเกณฑ์ในการวัดผลคะแนนนั้น ถ้าผู้ตอบแบบสอบถามได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนนถือว่ามี Well-Being ต่ำ (ไม่ดี) หรือมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า ตัวอย่างการตอบคำถามแสดงในรูปด้านล่าง

โดยทาง Happily.ai ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 1,235 ท่าน จาก 20 องค์กร และคำนวณค่าดัชนีค่า Well-Being โดยค่าดัชนี Well-Being ของทั้ง 20 บริษัทนี้มีค่าตั้งแต่ 52 จนถึง 80 คะแนน และมีค่ามัธยฐานหรือค่า Median อยู่ที่ 68 คะแนน  ซึ่งคะแนนมัธยฐานนี้สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการวัดระดับ Well-being ได้ในเบื้องต้น (สำหรับบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นทำการวัดค่าดัชนีนี้) และวิธีทางที่ดีที่สุดคือทำการวัดหลาย ๆ ครั้ง ด้วยจำนวนความถี่ที่สม่ำเสมอ เช่น วัดระดับ Well-being ทุก ๆ ไตรมาส และนำระดับคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบกับคะแนนก่อนหน้านี้ และถ้าพบว่าระดับคะแนนแย่ลงกว่าเดิม เราควรต้องหันกลับมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น และเราสามารถดำเนินการในด้านใดบ้างเพื่อให้สมาชิกในทีมมี Well-being ที่ดีขึ้นได้


ดูผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของเกณฑ์มาตรฐานระดับ Well-being ได้เพิ่มเติมที่ Employee Well-Being Handbook

ผู้จัดการส่งเสริม Well-being ของลูกทีมมีขั้นตอนอะไรบ้าง

ในแต่ละวันผู้จัดการมีส่วนรับผิดชอบในการดูแลจัดการสุขภาพและ Well-Being ของพนักงานในทีม ซึ่งรวมถึงการจัดการกับความเครียด การสังเกตสัญญาณเตือนล่วงหน้าของความเครียด การปรับเปลี่ยนที่สนับสนุนในที่ทำงาน และการหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์เชิงบวกในทีมทำงานของตนเอง

จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า "รูปแบบการจัดการที่ไม่ดี" เป็นสาเหตุหลักของความเครียดจากการทำงาน ในการสำรวจสุขภาพและ Well- Being ในที่ทำงาน ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบหนึ่งในสามตำหนิรูปแบบการจัดการว่าเป็นสาเหตุของความเครียดจากการทำงาน ผู้จัดการหรือหัวหน้างานเป็นแบบอย่างที่สำคัญในการส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพในที่ทำงาน และการค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจะเกิดข้อเสียได้อย่างไร หากผู้จัดการไม่มีความสามารถและความมั่นใจในการดำเนินการเกี่ยวกับบทบาทการจัดการคนของตนในทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้ผู้จัดการยังต้องเข้าใจถึงผลกระทบของรูปแบบการจัดการของพวกเขาที่มีต่อพนักงานและต่อวัฒนธรรมองค์กรในวงกว้างในที่ทำงานอีกด้วย

งานวิจัยจาก CIPD ประเทศอังกฤษได้ระบุถึง 5 พฤติกรรมหลักที่สำคัญสำหรับผู้จัดการสายตรงที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ, Well-being และ Engagement ของพนักงานภายในทีมที่ทำงานร่วมกัน ได้แก่

  1. เปิดใจยอมรับ มีความยุติธรรรม มีความเสมอต้นเสมอปลาย
    การนำสิ่งเหล่านี้มาบริหารทีมด้วยความคิดเชิงบวกและการเห็นคุณค่ากันจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมให้แข็งแรงและช่วยลูกทีมให้เติบโตก้าวหน้า ช่วยป้องกันความเครียด และช่วยจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ เพื่อพัฒนาพฤติกรรมเหล่านี้คุณสามารถจัดการอารมณ์ได้เมื่ออยู่ภายใต้ความกดดันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจได้ว่าคุณจะไม่ส่งต่อความเครียดให้กับทีมของคุณ
  2. สามารถจัดการกับความขัดแย้งและปัญหาการจัดการบุคคลได้
    การจัดการกับความขัดแย้งและปัญหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้แนวทางที่เป็นกลางเพื่อจัดการกับความขัดแย้งของพนักงาน โดยต้องจัดการในทันทีที่ปัญหานั้นเกิดขึ้น เช่น การข่มเหงรังแกและพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ และเมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วก็ต้องติดตามและทำให้แน่ใจได้ว่าปัญหานั้นได้ถูกแก้ไขแล้วจริง ๆ  สิ่งนี้จะช่วยป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเลวร้ายจากปัญหาที่เกิดจากความเครียดภายในทีมได้
  3. ให้ความรู้ ความชัดเจน และคำแนะนำที่ดีได้
    สิ่งนี้ทำให้คุณมั่นใจได้ว่าทีมของคุณรู้ว่าบริษัทหรือคุณคาดหวังอะไรจากสิ่งที่พวกเค้าทำและรู้ว่าต้องทำอย่างไร คุณสามารถชี้แจงข้อกำหนด ความคาดหวัง และความเข้าใจในบทบาทของพนักงาน รวมไปถึงขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถสื่อสารให้ลูกทีมได้รู้ว่าพวกเขายังทำงานไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายของทีม และสละเวลาเพื่อให้คำแนะนำที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงแก่พนักงานเมื่อพวกเขาต้องการ มีความรับผิดชอบในการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา การติดตามงาน รวมไปถึงการวางแผนงานด้วย
  4. สร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีภายในทีม
    สิ่งนี้มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการ Well-being ของทีม รวมไปถึงการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ ความเป็นห่วงต่อลูกทีมทุกคน แสดงความใส่ใจลูกทีมรายบุคคล มีการพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรและเปิดโอกาสสำหรับการพูดคุยกันแบบ one-on-one ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยป้องกันความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้ และทำให้คุณได้เห็นถึงสัญญาณว่ามีใครบ้างในทีมที่กำลังประสบปัญหา คุณสามารถช่วยทำให้พวกเขาได้พูดคุยเรื่องเหล่านี้และช่วยหาวิธีช่วยแก้ไขปัญหาหรือทำให้ปัญหาเบาบางลง
  5. ส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาของสมาชิกในทีม
    เป็นการใช้เวลาในการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาและเติบโตในสายอาชีพกับสมาชิกในทีมและต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น การให้โอกาสความก้าวหน้าในสายอาชีพที่ทำอยู่ การจัดสรรเวลาให้สมาชิกในทีมได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและเติบโตในองค์กร และส่งเสริมการจัดกิจกรรมการอบรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมเรื่องความก้าวหน้าในสายอาชีพ

พฤติกรรมทั้งห้านี้มาจากแนวความคิดในการดูแลสมาชิกในทีม การเคารพซึ่งกันและกัน ความเห็นอกเห็นใจกัน และความเมตตาที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้จัดการสายงานเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และการมีส่วนร่วมของทีม

เรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่คู่มือการประชุมแบบ One-on-one พร้อมตัวอย่างและเทมเพลตที่ใช้ในการประชุม

7 ขั้นตอนการดูแล Well-being ของพนักงานในทีม

จากที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อ Well-being ของพนักงานก็คือผู้จัดการหรือหัวหน้างานสายตรงนั่นเอง ในฐานะผู้จัดการทีมเมื่อเราเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการดูแล Well-being ของพนักงานเราแล้ว สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือ เริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ โดยสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. เรียนรู้และเข้าใจสมาชิกในทีมมากขึ้น
เมื่อต้องการจะดูแลทีม สิ่งแรกคือเราต้องรู้จักและเข้าใจพวกเขา เพื่อจะได้รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร อะไรเป็นแรงจูงใจในการทำงาน อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเครียดได้ พวกเขารู้สึกมีความสุขกับ Work-life balance หรือไม่ ระดับ Well-being ของพวกเขาเป็นอย่างไร โดยสามารถทำได้ด้วยการจัดประชุม one-on-one ในการพูดคุยกัน ใช้แบบสอบถาม หรือใช้แบบประเมินในการเก็บข้อมูล ในขั้นตอนนี้คุณต้องแสดงให้สมาชิกในทีมเห็นถึงความห่วงใยใส่ใจที่แท้จริง ความเห็นอกเห็นใจกัน และการรับฟังความรู้สึกของสมาชิกในทีม ซึ่งจะสอดคล้องกับพฤติกรรมการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีภายในทีม

💡
Action: จัดการประชุม One-on-one เพื่อพูดคุยและเก็บข้อมูลเรียนรู้สมาชิกในทีมของตนเอง

2. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทีมในด้านส่งเสริมนิสัยการทำงานที่มีสุขภาพดี
การเป็นตัวอย่างที่ดีนี้เป็นเรื่องที่สมาชิกในทีมสามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุดและบอกพวกเขาเป็นนัยว่าเขาก็ทำกันได้นะ ดังนั้นคุณต้องดูแล Well-being ของตัวเองให้ดี จัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด หาเวลาหยุดพักผ่อน หยุดพักทำงานเมื่อรู้สึกไม่สบาย หลีกเลี่ยงการทำงานในช่วงเวลาที่นานเกินไป ตรวจสอบระดับความเครียดของตนเอง ขั้นตอนนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพฤติกรรมการเปิดใจยอมรับ ความยุติธรรม และความเสมอต้นเสมอปลาย

💡
Action: เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการดูแล Well-being ของตนเอง จัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมคลายเครียด ลาพักร้อน และหยุดทำงานเมื่อรู้สึกไม่สบาย

3. ทบทวนภาระงาน หน้าที่ และความรับผิดชอบของสมาชิกในทีม
ในขั้นตอนนี้คุณสามารถให้ข้อมูลแก่สมาชิกในทีมเพื่อให้พวกเขารู้ว่ามีส่วนช่วยขับเคลื่อนหรือส่วนร่วมในการทำให้บริษัทประสบผลสำเร็จได้อย่างไร ช่วยกำหนดความคาดหวังและกำหนดเวลาในการส่งงาน ทำให้แน่ใจได้ว่าสมาชิกในทีมมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ส่งเสริมการให้สมาชิกในทีมให้ Feedback เกี่ยวกับงานและความก้าวหน้าของงานที่ชัดเจน สร้างสรรค์ และทันเวลา ซึ่งในการดำเนินการเหล่านี้จะสัมพันธ์อย่างมากกับพฤติกรรมการให้ความรู้ ความชัดเจน และคำแนะนำ และพฤติกรรมการส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาของสมาชิกในทีม

💡
Action: ตรวจสอบว่าสมาชิกในทีมมีความสามารถในงานที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ และให้ Feedback เกี่ยวกับงานและความก้าวหน้าในงานกับพนักงานอย่างสร้างสรรค์ และทันเวลา

4. ทบทวนสไตล์การจัดการบริหารทีมของตนเอง
ขั้นตอนนี้สามารถสังเกตได้จากการที่สมาชิกในทีมรู้หรือไม่ว่าทีมอยู่ในสถานะการทำงานแบบใด ถ้าคุณบริหารจัดการทีมด้วยการที่ทีมคาดเดาไม่ได้หรือไม่มีความเด็ดขาด สิ่งนี้จะทำให้ทีมของคุณไม่สามารถจัดการตนเองได้ดีภายใต้ความกดดัน สังเกตจากการที่คุณให้ Feedback เชิงบวกและสร้างสรรค์แก่สมาชิกในทีมมีมากน้อยเพียงใด คุณเปิดรับและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับการสนทนาที่ละเอียดอ่อนกับสมาชิกในทีมเพียงใด คุณมีวิธีการอย่างไรในการจัดการกับความขัดแย้งและปัญหาในทีม คุณส่งเสริมการมอบอำนาจในการตัดสินใจให้คนในทีมหรือไม่ คุณสื่อสารอย่างไรกับสมาชิกแต่ละคนในทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองสอดคล้องกับพฤติกรรมการเปิดใจยอมรับ มีความยุติธรรรม และมีความเสมอต้นเสมอปลาย ที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมของทีมให้แข็งแรง

💡
Action: แสดงออกและสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคุณมีสไตล์การทำงานเป็นแบบไหน 

5. บอกได้ถึงความขัดแย้งหรือปัญหาเกี่ยวกับบุคคลที่อาจเกิดขึ้นได้ และสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว
ในขั้นตอนนี้คุณต้องทำให้แน่ใจได้ว่าการจัดการกับความขัดแย้งหรือปัญหาในทีมได้ถูกแก้ไขอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าปล่อยปัญหาให้แย่ลงไปเรื่อย ๆ เช่นอย่าปล่อยให้การทะเลาะกันเกิดเป็นความขัดแย้งกัน และเมื่อทราบถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วก็ควรแก้ไขปัญหานี้ด้วยความเป็นกลาง มีเมตตา และสมเหตุสมผล กรณีถ้าเกิดการกลั่นแกล้ง การข่มขู่ การล่วงละเมิด และปัญหาร้ายแรงอื่น ๆ ในทีม คุณต้องให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมและแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาด เมื่อแก้ปัญหาแล้วก็ต้องติดตามผลว่าปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง เพื่อที่เหตุการณ์จะไม่ระอุอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถกลับมาเกิดความขัดแย้งเดิมขึ้นมาอีกครั้ง และแน่นอนขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมการจัดการกับความขัดแย้งและปัญหาการจัดการบุคคลนั่นเอง

💡
Action: จัดการกับความขัดแย้งหรือปัญหาภายในทีมอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด จากนั้นทำการติดตามผลว่าปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริงเพื่อไม่ให้กลับมาเกิดปัญหานี้ขึ้นอีก

6. ไม่สนับสนุนภาวะที่พนักงานในทีมรู้สึกไม่สบายและยังคงมาทำงาน หรือ “Presenteeism”
ถ้ามีบางคนในทีมมีอาการป่วยหรือไม่สบาย คุณต้องมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะไม่ทำงานและพักฟื้นเพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงและพร้อมมาเริ่มงานได้ ดังนั้นต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคุณไม่ได้คาดหวังให้สมาชิกในทีมมาทำงานเมื่อมีอาการป่วยด้วยการปิดการสื่อสารเรื่องงานในช่วงพักฟื้นไม่ว่าจะเป็นทางอีเมล์หรือทางโทรศัพท์ ให้มีเพียงการถามไถ่อาการเท่านั้น คุณสามารถสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดจากความเจ็บป่วยของสมาชิกในทีมได้หรือสามารถสอบถามเรื่องสุขภาพและ Well-being ในระดับบุคคลในช่วงเริ่มต้นการพูดคุยอัพเดทงานที่ทำกันเป็นประจำ (อาจจะเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนก็ได้) สิ่งสำคัญคือคุณต้องเตรียมพร้อมสำหรับบทสนทนาที่ละเอียดอ่อนและบทสนทนาที่สมาชิกในทีมต้องการความช่วยเหลือจากคุณ  
ในฐานะผู้จัดการที่เป็นแบบอย่างที่สำคัญให้กับคนในทีม คุณอย่าลืมที่จะใช้วันลาเพื่อการพักผ่อน และไม่ติดต่อเรื่องงานกับสมาชิกในทีมเมื่อพวกเขาลาหยุดพักผ่อน สิ่งนี้ทำให้สมาชิกในทีมมีโอกาสที่จะทำตามเช่นกัน ซึ่งจะสอดคล้องกับพฤติกรรมการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีภายในทีม และพฤติกรรมการให้ความชัดเจน และคำแนะนำ

💡
Action: สื่อสารและทำให้เห็นว่าคุณไม่สนับสนุนให้พนักงานในทีมทำงานทั้งที่รู้สึกไม่สบาย โดยจะไม่ส่งอีเมล์หรือโทรคุยเรื่องงานในช่วงระหว่างที่พนักงานลาป่วย

7. จัดการสุขภาพจิตใจของสมาชิกในทีมขณะที่มีการทำงานแบบระยะไกลหรือ Remote Work
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้การทำงานจากที่บ้านหรือ Work From Home (WFH) เพิ่มสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ Remote ทั้งหมดเลยหรือแบบ Hybrid ที่ทำทั้งที่ออฟฟิศและที่บ้าน ดังนั้นต้องใส่ใจมากยิ่งขึ้นกับการช่วยให้พนักงานในทีมยังมีการเชื่อมต่อกัน คุณอาจเพิ่มเวลาในการสนทนาเรื่องทั่ว ๆ ไปสำหรับคนในทีมเพื่อเพิ่มความสามัคคี ลดความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว โดยทำให้การสื่อสารของคนที่ WFH ง่ายขึ้น เช่นคุณอาจให้ทีมคุณเช็คอินและพูดคุยกันเรื่อง Well-being ของแต่ละคนในทีมผ่านทาง VDO Call ในทุก ๆ เช้าในเวลาสั้น ๆ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกได้ถึงการเชื่อมต่อระหว่างกันแม้ว่าต้องทำงานคนละที่
โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะมีความรู้สึกอ่อนไหวเมื่อรู้สึกโดดเดี่ยวหรือกังวล ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารและการให้ Feedback ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก คุณต้องแน่ใจได้ว่ามีการสื่อสารและให้ Feedback ที่สร้างสรรค์อย่างสม่ำเสมอที่ทำให้สมาชิกในทีมรู้สึกมีส่วนร่วมและรู้สึกถึงการมีคุณค่าในงานที่ตนทำอยู่ การสื่อสารเป็นการสื่อสารสองทางดังนั้นไม่เพียงแต่การพูดคุยกันแต่คุณยังต้องรับฟังสมาชิกในทีมให้มาก ซึ่งในการทำงานคนละที่กันนั้นเวลาสื่อสารแบบไม่เห็นหน้าและภาษากายกันเป็นเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ดังนั้นควรฟังให้เข้าใจ และตั้งคำถามให้เหมาะสมเพื่อตีความสิ่งที่พูดคุยกันให้ชัดเจนและเข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย หรือคุณสามารถจัดการประชุมแบบ one-on-one โดยใช้ VDO conferrence ที่สามารถเห็นหน้าคู่สนทนาเพื่อลดช่องว่างการสนทนาที่แสดงออกมาทางสีหน้าและท่าทางได้
สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งสำหรับการทำงานแบบ Remote  ก็คือเรื่อง Work-life balance คุณสามารถช่วยให้ทีมลดความเสี่ยงในการ Burnout  และการทำงานมากเกินไป ด้วยการกำหนดเวลาเริ่มงาน เวลาเลิกงาน และเวลาพักที่ชัดเจน ส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง การสร้างกิจวัตรที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง เช่นการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เน้นย้ำถึงประโยชน์ของการมีสุขภาพที่แข็งแรง และมี Well-being ที่ดีให้กับคนในทีม สิ่งสุดท้ายคือเชื่อมั่นในทีมของคุณว่าพวกเขาสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ ด้วยการกำหนดความคาดหวังให้ชัดเจน โฟกัสที่ผลงานมากกว่าชั่วโมงการทำงาน ซึ่งขั้นตอนนี้สอดคล้องกับพฤติกรรมการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีภายในทีม และพฤติกรรมการให้ความรู้ ความชัดเจน และคำแนะนำ

💡
Action: เช็คอินและพูดคุยกันเรื่อง Well-being ของแต่ละคนในทีมผ่านทาง VDO Call ที่สามารถเห็นหน้ากันได้ในทุก ๆ เช้าในเวลาสั้น ๆ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกได้ถึงการเชื่อมต่อ

Well-Being ของพนักงานมีส่วนช่วยให้ทีมขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ ผู้จัดการสายตรงจึงต้องให้ความสนใจและใส่ใจในการสร้างและส่งเสริม Well-Being ในทีมกันอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามไม่มีวิธีการใดการหนึ่งที่แก้ไขได้ทุกปัญหา เช่นเดียวกับการออกแบบกลยุทธ์ในการดูแลสุขภาพและ Well-Being ของสมาชิกในทีม ซึ่งในการกำหนดกลยุทธ์และวิธีดำเนินการจะขึ้นกับความต้องการและลักษณะเฉพาะของทีมและพนักงานแต่ละคนในทีมนั่นเอง

Happily.ai | สร้าง engage กับทีมของคุณ พัฒนาทักษะเรื่องคน และเสริมความแกร่งให้วัฒนธรรม ด้วยข้อมูลเชิงลึกและการแจ้งเตือนอย่างง่ายๆ
เพิ่มขีดความสามารถให้ทีมที่ต้องทำงานแบบรีโมตและกึ่งออนไลน์ เข้าถึง employee engagement การปลูกฝังค่านิยม และความสัมพันธ์เชิงบวกที่สร้างวัฒนธรรมแบบ high-performing culture

เอกสารอ้างอิง

[1] https://happily.ai/employee-well-being

[2] https://www.cipd.co.uk/knowledge/culture/well-being/managing-stress-at-work

Subscribe to Smiles at Work | The Official Happily.ai Blog newsletter and stay updated.

Don't miss anything. Get all the latest posts delivered straight to your inbox. It's free!
Great! Check your inbox and click the link to confirm your subscription.
Error! Please enter a valid email address!