จากการลาออกของพนักงานที่สูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่น่าแปลกใจเลยที่การดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กรจะเป็นสิ่งที่ผู้นำหลาย ๆ คนให้ความสำคัญมากที่สุดในปีนี้ คุณในฐานะผู้นำองค์กรอาจกำลังหาวิธีที่จะช่วยรักษาพนักงานที่มีความสามารถของคุณไว้ได้อย่างดีที่สุด เช่น การเพิ่มค่าตอบแทน การเสนอตารางเวลาที่ยืดหยุ่น หรือการทำให้การทำงานทางไกลเป็นไปได้อย่างง่ายดายขึ้น แต่มีวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่ายและในราคาที่ถูกกว่านั้น อีกทั้งยังมอบสิ่งที่พนักงานต้องการอย่างแท้จริงให้กับพวกเขา นั่นก็คือ การพัฒนาทักษะวิชาชีพในระหว่างการทำงาน (On-the-job Professional Development)

การพัฒนาทักษะวิชาชีพในระหว่างการทำงาน หรือ การฝึกปฎิบัติงานระหว่างการทำงานจริง (On-the-job Trainnig) คือการฝึกอบรมแบบเฉพาะที่ถูกจัดขึ้นในที่ทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานตามปกติของพนักงาน หรือ อาจเกิดขึ้นในขณะที่พนักงานกำลังปฏิบัติงานจริง โดยจะเป็นการให้คำแนะนำกับพนักงาน เกี่ยวกับทักษะในแง่มุมต่าง ๆ ของการทำงานผ่านการสอน เช่น การสังเกตผู้อื่นและการใช้ประสบการณ์จริงเพื่อทำงานให้เสร็จลุล่วงภายใต้การดูแลของเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน

การพัฒนาทักษะวิชาชีพขณะปฎิบัติงาน เป็นวิธีที่สามารถแก้ปัญหาการลาออกของพนักงานได้เกือบจะสมบูรณ์แบบที่สุด และมีข้อมูลทางตัวเลขมากมายที่ยืนยันได้ว่าการได้พัฒนาทักษะในการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการตัดสินใจที่จะทำงานกับองค์กร จาก LinkedIn Global Talent Trends Report ปี 2022 พบว่าพนักงานเชื่อว่าการส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพให้กับพนักงานเป็นหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กร และผลของการละเลยการพัฒนานี้ยังส่งผลเสียต่อองค์กรอย่างมีนัยสำคัญ และเช่นเดียวกัน ข้อมูลทางสถิติของ Deloitte แสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่แข็งแรงมีโอกาสในการทำกำไรได้มากกว่าบริษัทคู่แข่งถึง 17% และมีอัตราการรักษาพนักงานสูงขึ้น 30–50%

ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้กับพนักงาน (On-the-job Professional Development)

จากบทความของ Erica Keswin ใน Harvard Busisness Review ได้นำเสนอ 3 วิธีในการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้กับพนักงานในองค์กรของคุณ ดังนี้

ทำให้พนักงานเรียนรู้ได้เร็วและเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

คุณไม่ต้องรอให้พนักงานใหม่ที่เข้ามาทำงานที่บริษัทของคุณคุ้นชินกับการทำงานตามหน้าที่ก่อนที่จะเริ่มต้นการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพหรือจัดเทรนนิ่งให้กับพวกเขา เพราะการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ระหว่างปฏิบัติงานจะส่งผลต่อประสบการณ์การทำงานของพวกเขาในบริษัทได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ในวันแรก ๆ ของการอบรมพนักงานใหม่ คุณอาจให้พวกเขาเสนอความคิดเห็นที่มีเกี่ยวพันธกิจ (Mission) และเส้นทาง (Journey) ของบริษัท ให้พื้นที่และเครื่องมือในการค้นหาตัวเอง และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการพูดคุยโต้ตอบกับเพื่อนร่วมงานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการวางแผนการทำงานร่วมกันจากสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ หลังจากนั้น พนักงานจะสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมมาใช้ในการสื่อสารในทุก ๆ วันกับผู้จัดการของพวกเขา โดยการตอบคำถามเหล่านี้ร่วมกัน: “อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของคุณ” หรือ “เราควรทำงานร่วมกันอย่างไร” สิ่งนี้จะทำให้พนักงานได้ทำงานที่สอดคล้องกับความสามารถของพวกเขาและรู้สึกว่าพวกเขามีความสำคัญต่อองค์กร

ทำให้การเรียนรู้เป็นหนึ่งในกิจวัตรในการทำงาน

การสร้างกิจวัตรในการทำงานจะช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของงานและมีความเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ของการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่ Udemy บริษัทการเรียนรู้ออนไลน์ ได้สร้างกิจวัตรที่เรียกว่า Drop Everything and Learn หรือ DEAL ซึ่งในวันพุธของทุกเดือนในเวลา 3 โมงเย็น ทุกคนต้องเลิกทำสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่และเข้าเรียนในคลาสออนไลน์เกี่ยวกับอะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่พวกเขาทำ การให้โอกาสในการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพแก่พนักงานช่วยให้พวกเขามี Engagement ในการทำงานมากขึ้น จากการศึกษาของ Udemy ในปี 2016 พนักงานที่ไม่ Engage กับงานที่ทำ และมีความรู้สึกเบื่อในงานมีแนวโน้มที่จะลาออกมากกว่าถึงสองเท่า และจากการศึกษาเดียวกันพบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จะทำให้พวกเขา Engage ในงานมากยิ่งขึ้น

ให้การโค้ชกับพนักงาน (Coaching)

การโค้ชเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่พนักงานต้องการมากที่สุดจากองค์กร แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีบริษัทที่จัดการโค้ชให้กับพนักงานทุกคน ส่วนใหญ่แล้วการโค้ชจะมีไว้ให้สำหรับผู้บริหารระดับสูงและผู้ที่มีผลงานโดดเด่นที่บริษัทเห็นว่าควรค่าแก่การลงทุนเท่านั้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากการเกิดโรคระบาด ทั้งผู้จัดการและ HR กลับต้องเผชิญกับความต้องในโปรแกรมการโค้ชที่เพิ่มมากขึ้นจากพนักงาน ในขณะที่ตัวผู้จัดการและ HR เองไม่มีเวลาพอที่จะให้การโค้ชกับพนักงานเหล่านั้น

ถือเป็นเรื่องดีที่ในปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญในการจัดโปรแกรมการโค้ชให้กับพนักงานมากยิ่งขึ้น ทั้งการโค้ชแบบ one-on-one และในรูปแบบอื่น ๆ เพราะการโค้ชจะช่วยให้พนักงานได้พัฒนาตนเองและทักษะทางวิชาชีพไปในอีกระดับได้อย่างแท้จริง ดังที่ Deloitte ได้กล่าวไว้ว่า “วัฒนธรรมการโค้ชคือแนวทางการปฏิบัติที่มีความสัมพันธ์อย่างสูงที่สุดกับผลการดำเนินธุรกิจ การมีส่วนร่วมของพนักงาน และการรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กร”

🛠️
Happily.ai ได้รวบรวมเครื่องมือสำหรับผู้นำและผู้ที่สนใจเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ตั้งแต่เริ่มสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยขั้นตอนการจ้างงาน กลยุทธ์ในการส่งเสริม ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม ตลอดจนการรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งให้ยั่งยืนไว้ที่ Culture Toolkit

บทสรุป

การสร้างวัฒนธรรรมการเรียนรู้และพัฒนาในองค์กรของคุณจะทำให้คุณสามารถดึงดูดและรักษาคนที่มีความสามารถไว้กับองค์กรได้อย่างแน่นอน และผู้นำองค์กรรวมไปถึงผู้จัดการก็ยังคงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ ด้วยการมอบโอกาสในการเรียนรู้ให้กับพนักงานตั้งแต่วันแรกที่พนักงานเข้าทำงานจนถึงตลอดระยะเวลาการทำงานของพวกเขา ทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรในการทำงานในองค์กรของคุณ และจัดโปรแกรมส่งเสริมการฝึกฝนทักษะที่สำคัญกับพนักงานเพื่อส่งเสริม Engagement และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขา เพียงแค่นี้คุณก็จะสามารถรักษาพนักงานที่มีความสามารถและสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่แข็งแรงให้กับองค์กรของคุณได้

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.washingtonpost.com/business/2022/03/09/job-quits-january-openings/

[2] https://hbr.org/2022/04/3-ways-to-boost-retention-through-professional-development

[3] https://www.thebalancecareers.com/how-on-the-job-training-brings-you-value-1917941

[4] Photo by Scott Graham on Unsplash

Share this post