การเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานไปเป็นการทำงานจากทางไกล (WFH) หรือแบบ Hybrid มีแนวโน้มว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานที่คงอยู่ถาวร ทำให้หลาย ๆ องค์กรเกิดความกังวลอย่างมากว่าจะดึงดูด พัฒนา และรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กรได้อย่างไร การจัดโปรแกรมการเรียนรู้และพัฒนา (Development Programs) ให้กับพนักงานคนเก่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดกันว่าการเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพดีที่สุดเมื่อผู้สอนและผู้รับการเรียนรู้อยู่ในห้องเดียวกัน เพราะการเรียนรู้ในห้องเรียนคือการเรียนรู้แบบที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย แต่เพียงเพราะคุณเคยได้รับการเรียนรู้ส่วนใหญ่จากในห้องเรียนจริง นั่นไม่ได้หมายความว่าวิธีนี้เป็นวิธีเดียวหรือวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ดี

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเราสามารถรับรู้ว่าเมื่อใดที่เรากำลังเรียนรู้ในสิ่งที่น่าสนใจ และเรารู้ว่าเมื่อใดที่เราพบว่าการเรียนรู้นั้นง่ายหรือยาก แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าสมองเรากำลังเรียนรู้อยู่ในขณะนั้น และเนื่องจากเราไม่รู้ว่าเราเรียนรู้ได้ดีเมื่อใด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเรามีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

จริง ๆ แล้วการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมนั้นเกี่ยวข้องกับการออกแบบที่ดี หรือก็คือการออกแบบการเรียนรู้ที่พิจารณาถึงกลไกลทางสมองของมนุษย์ อันที่จริงการเรียนรู้แบบ Online ที่ออกแบบมาอย่างดีได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพเท่า ๆ กับการเรียนรู้ในห้องเรียน หรืออาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในบางครั้ง เนื่องจากการเรียนรู้แบบ Online สามารถปรับเปลี่ยนได้ค่อนข้างง่ายและมีความยืดหยุ่น ผู้เรียนสามารถกำหนดเวลาหรือเว้นระยะห่างของการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง สิ่งนี้ทำให้มีโอกาสมากกว่าที่ความรู้จะได้ถูกฝังลงในหน่วยความจำของสมองในระยะยาว และถูกนำมาย่อยและฝึกฝนได้ ในขณะที่การเรียนรู้ในห้องเรียนอาจมีคุณภาพไม่เพียงพอเพราะการเรียนรู้เหล่านั้นมักจะบังคับให้ผู้เรียนใช้เวลาหลายชั่วโมงติดต่อกันในห้องเรียนโดยไม่หยุดพักเพื่อรับความรู้ให้มากที่สุด โดยมีเวลาย่อยหรือทบทวนความรู้ที่ได้รับมาเพียงเล็กน้อย

การวิเคราะห์จากการศึกษา  96 ชิ้นงานแสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้แบบ Online มีผลดีมากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยเฉลี่ย 19%

กลยุทธ์ในการพัฒนาพนักงานผ่านการเรียนรู้แบบ Hybrid

อย่างไรก็ตาม บทความของ Heidi Grant และ Tal Goldhamer ใน Harvard Business Review แสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้แบบ Online หรือ Hybrid นั้นก็ยังมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่โชคดีที่แต่ละปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยกลยุทธ์ต่อไปนี้

การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้

การทำหลายอย่างพร้อม ๆ กันและการมีสิ่งรบกวนมากมายรอบตัวจะยิ่งส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ เมื่อพนักงานรู้สึกว่าพวกเขาจะไม่ถูกจับได้เมื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ ระหว่างการเรียนรู้ เช่น การตอบอีเมล พวกเขาจะรู้สึกมีส่วมร่วมในการเรียนรู้น้อยลง แต่มี 2 วิธีที่จะทำให้พนักงานของคุณจดจ่อกับการเรียนรู้ดังนี้

  • ทำให้เนื้อหาการเรียนรู้น่าสนใจ: คุณต้องทำให้พนักงานรับรู้อย่างชัดเจนว่าความรู้ที่พวกเขาจะได้รับนั้นเกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไร มุ่งเน้นไปที่ความรู้ที่น่าประหลาดใจ และให้การนำเสนอในลักษณะที่ฟังคล่องและเข้าใจได้ง่าย
  • ทำให้พนักงานรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา: ใช้การสำรวจความคิดเห็นระหว่างการเรียนรู้แบบที่พนักงานไม่คาดคิด เชิญชวนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม และสนับสนุนให้พนักงานเปิดกล้องระหว่างการเรียนรู้

การจัดการกับความเหนื่อยล้า

การทำงานแบบ Hybrid ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในรูปแบบใหม่ พนักงานหลายคนมักจะนัดประชุมแบบติด ๆ กัน การเปิดกล้องในการประชุมแบบ Online อาจเพิ่มความตระหนักในตนเอง (Self-awareness) ซึ่งมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความตระหนักในตนเองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ การเฝ้าสังเกตและระมัดระวังตนเองระหว่างเปิดกล้องอาจทำให้พนักงานรู้สึกหมดแรงเมื่อสิ้นสุดการประชุมทุกครั้ง และพวกเขายังมีเวลาเพียงเล็กน้อยในการพักก่อนจะถึงการประชุมครั้งต่อไป ความเหนื่อยล้าจัดการได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  • สนับสนุนให้พนักงานใช้เวลาพักอย่างจริงจัง: คุณต้องให้พนักงานได้พัก 5-10 นาทีสำหรับการเรียนรู้ในทุกๆ 30 ถึง 60 นาที ยิ่งช่วงเวลาในการเรียนรู้นานเท่าไหร่ ช่วงเวลาพักก็จะต้องนานขึ้นเท่านั้น ระหว่างพักคุณต้องเน้นย้ำให้พนักงานลุกออกจากโต๊ะทำงานหากเป็นไปได้ เดินไปรอบ ๆ และเปลี่ยนมุมมองของพวกเขาออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์
  • ส่งเสริมให้พนักงานปิด Self-view: พนักงานมักไม่ทราบว่าการมองดูตัวเองในหน้าจอนั้นทำให้พลังงานของพวกเขาหมดไปมากแค่ไหน คุณอาจแนะนำให้พนักงานปิดการมองเห็นตัวเอง (Self-view) ในโปรแกรมที่ทำได้อย่าง Zoom หรือหากโปรแกรมที่คุณใช้อยู่ไม่มีทางเลือกนี้ คุณอาจแนะนำให้พนักงานนำ Sticky Note มาแปะไว้ที่หน้าจอ เพื่อไม่ให้พนักงานมองดูตัวเองในหน้าจอจนรู้สึกล้า

การทำให้พนักงานมีการเชื่อมต่อกัน

เซสชันการแบ่งกลุ่มการเรียนรู้ที่พนักงานสามารถแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและใช้ความรู้ใหม่ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี เซสชั่นลักษณะนี้มักจะเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่าย (Networking) ที่มีคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้พนักงานสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานได้ แต่น่าเสียดายที่เซสชันการแบ่งกลุ่มและ Networking เหล่านี้อาจทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัดใจที่จะเข้าร่วม แต่นี่คือวิธีที่จะทำให้พนักงานมีโอกาสในการเชื่อมต่อกันโดยรู้สึกอึดอัดน้อยลง

  • ให้คำแนะนำที่ชัดเจนในเซสชันการแบ่งกลุ่ม: คุณต้องบอกพนักงานว่าพวกเขาควรจะพูดและทำอะไรระหว่างเซสชันการแบ่งกลุ่ม โดยอาจให้สคริปต์ หรือ บทพูดสำหรับพวกเขาในการใช้เวลาร่วมกัน กำหนดบทบาทในเซสชันของพนักงานแต่ละคน ให้คำแนะนำที่ชัดเจน และสร้างความคาดหวังร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเซสชันการแบ่งกลุ่มนี้
  • อำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อกัน: ในห้องประชุมแบบ Online เป็นเรื่องง่ายที่พนักงานจะรู้สึกอึดอัด และเป็นเรื่องปกติที่พวกเขามักจะต้องการหลีกเลี่ยงการเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัดนั้นตั้งแต่แรก คุณต้องทำให้โอกาสในการสร้างเครือข่ายนี้มีระยะเวลาที่สั้นและให้ตัวอย่างพนักงานเกี่ยวกับสิ่งที่จะพูดคุยกัน เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าการเชื่อมต่อนั้นง่ายสะดวกสบาย และไม่เป็นที่น่าอึดอัดใจ

การเรียนรู้แบบ Online และ Hybrid สามารถสร้างผลกระทบได้เท่าเทียมกันหรืออาจจะได้ผลมากกว่าการเรียนรู้แบบตัวต่อตัวในห้องเรียนเสียอีก หากคุณใช้ความตั้งใจเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อยในการมุ่งเน้นไปที่การออกแบบการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม คุณจะสามารถเอาชนะความท้าทายทั้งในด้าน Engagement การจัดการกับความเหนื่อยล้า และการเชื่อมต่อกัน มากไปกว่านั้นพนักงานคนเก่งของคุณจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นและอยู่กับองค์กรของคุณได้นานยิ่งขึ้นในโลกของการทำงานแบบ Hybrid นี้อีกด้วย

Happily.ai | เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยเทคโนโลยี เพื่อชัยชนะที่ยั่งยืน
ช่วยคุณสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ปลูกฝังค่านิยมอันดี สร้างสัมพันธภาพเชิงบวก เสริมสร้างสถานที่ทำงานที่เข้มแข็งน่าทำงาน เพื่อชัยชนะที่ยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง

https://hbr.org/2022/07/designing-learning-programs-for-a-hybrid-workplace

https://psycnet.apa.org/record/2016-05591-004

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1744-6570.2006.00049.x

Share this post