ผู้นำรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

บทความสัปดาห์ที่แล้วเรากล่าวถึงว่าจริง ๆ แล้วผู้นำเขาทำอะไรและมีความแตกต่างอย่างไรจากผู้บริหาร สิ่งหลักที่ผู้นำทำนั้นก็คือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต่างจากผู้บริหารที่ต้องรับมือกับความซับซ้อนที่ทำหน้าที่จัดการบริหาร ควบคุมและแก้ไขปัญหาในองค์กร

เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลง เราคงทราบกันดีว่าในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมาโลกประสบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่และเป็นวงกว้าง หลายองค์กรพยายามฝ่าฟันและเรียนรู้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ และที่กล่าวมาข้างต้น ผู้นำมีบทบาทสำคัญที่ต้องนำพาองค์กรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

กลยุทธ์ในการปรับแนวคิดของผู้นำในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

จากบทความของ Havard Business Review ของผู้เขียน Rebecca Zucker และ Darin Rowell ได้แนะนำกลยุทธ์สำหรับผู้นำในการนำพาทีมหรือองค์กรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและก้าวผ่านความไม่แน่นอนไปได้ และการที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องอาศัยทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อส่งเสริมความสามารถของผู้นำในการเรียนรู้ พัฒนา และนำทางการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ โดยมี 6 กลยุทธ์ ดังนี้

  1. ปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก “รู้ทุกอย่าง” เป็น “เรียนรู้ทุกอย่าง”
    จากคำกล่าวของ Satya Nadella, CEO ของ Microsoft ที่ว่า ผู้นำต้องเปลี่ยนแนวคิดจาก รู้ทุกอย่าง เป็น เรียนรู้ทุกอย่าง สิ่งนี้ช่วยให้ผู้นำลดความกดดันในตัวเองลงในการหาคำตอบให้ทุกคำถาม ปกติแล้วสมองของคนเรามักจะมองว่าความไม่แน่นอนหรือการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลร้ายต่อตัวเอง จึงเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะรู้สึกเครียดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพหรือคนที่เป็นผู้นำที่ถูกคาดหวังว่าต้องรู้ทุกอย่างและสามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง สิ่งนี้กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้เติบโตในอนาคต และท้ายที่สุดส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและแก้ไขปัญหา
  2. แยกแยะได้ว่าเรื่องไหนเป็น เรื่องที่ยุ่งยาก หรือ เรื่องที่ซับซ้อน
    คนส่วนใหญ่มองว่า เรื่องที่ซับซ้อน กับ เรื่องที่ยุ่งยาก ใช้แทนกันได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นคนละเรื่องกัน ตัวอย่างเช่น กฎหมายภาษีนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก หมายความว่าเรื่องนี้มีลักษณะทางเทคนิคสูงและเข้าใจได้ยาก แต่เราสามารถแบ่งปัญหาออกเป็นส่วน ๆ ได้และปรึกษาผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญก็จะสามารถหาวิธีแก้ไขได้
    ส่วนเรื่องที่มีความซับซ้อนจะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งบางส่วนเราอาจไม่รู้มาก่อนและอาจเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไปโดยที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ ตัวอย่างเช่น นโยบายการต่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นเรื่องซับซ้อน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากแต่ก็ยังไม่มีวิธีแก้ไขที่ชัดเจน และด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนจึงมักเกิดจากการลองผิดลองถูก การแก้ไขนี้ต้องอาศัยการเต็มใจทำ และความสามารถในการดำเนินการ เรียนรู้ และปรับตัว
  3. ปล่อยวางเรื่องความสมบูรณ์แบบ
    การทำบางอย่างให้สมบูรณ์แบบในสภาวะแวดล้อมที่ซับซ้อนที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นดูไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร เพราะต้องการทั้งเวลาและความละเอียดรอบคอบทุกขั้นตอน ซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอีกและอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ดังนั้นจึงควรมุ่งเน้นไปที่ความก้าวหน้าของงาน ความคาดหวังข้อผิดพลาดที่รับได้ และคิดไว้เสมอว่าเราสามารถแก้ไขบางขั้นตอนให้ถูกต้องได้
    สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จสูง, ผู้เชี่ยวชาญ, หรือผู้นำบางคนมีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นเรื่องความสมบูรณ์แบบ และสิ่งนี้อาจเป็นตัวขัดขวางการทำงานหรือการแก้ปัญหาในเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ่อย ๆ ได้ เพื่อที่จะปล่อยวางเรื่องความสมบูรณ์แบบได้นั้น เราควรยอมรับกับความรู้สึกกลัวที่อยู่ภายในใจเช่น ความรู้สึกว่าฉันจะล้มเหลว ฉันจะดูแย่ หรือฉันจะตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งถ้าคิดไปต่อว่าถ้าเกิดความล้มเหลว หรือตัดสินใจผิดพลาด แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ แน่นอนโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ร้ายแรงเหมือนอย่างที่เราคาดคิดหรือจินตนาการไว้ ในทางกลับกันบางเหตุการณ์ทำให้เราได้เรียนรู้และพบโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโตในอาชีพ
  4. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ง่ายเกินไปและการด่วนสรุป
    การทำให้เรื่องที่ซับซ้อนเป็นเรื่องที่ดูแก้ไขได้อย่างง่ายดายเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรื่องนี้ดูไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ในทางกลับกันสิ่งนี้อาจจำกัดมุมมองและทำให้เรามองไม่เห็นปัจจัยที่สัมพันธ์กันของเรื่องนี้ ซึ่งนำไปสู่ความผิดพลาดได้
    ผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงหรือผู้นำมักจะมีอคติหรือรู้สึกหงุดหงิดกับการแก้ไขปัญหาหรือความท้าทายที่ไม่ได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาและแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน แทนที่จะจมอยู่กับความคิดที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ผู้นำต้องเรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลระหว่างความต้องการในการดำเนินการกับแนวทางที่มีวินัยในการทำความเข้าใจทั้งความซับซ้อนของสถานการณ์และอคติของตนเอง
  5. อย่าดำเนินการคนเดียว
    พบว่าผู้นำหลาย ๆ คนรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งของความรู้สึกโดดเดี่ยวมาจากความเชื่อที่ว่าพวกเขาจำเป็นต้องแก้ปัญหาทั้งหมดด้วยตนเอง ในงานที่มีความซับซ้อนและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นนั้น เรามีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะลดการโฟกัสและความพยายามลง ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญปัญหาหรือความท้าทายที่มีความซับซ้อนมาก ๆ และยังไม่มีวิธีการแก้ไขที่ชัดเจน ให้ใช้โอกาสนี้ในการฝึกฝนการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายของคุณและยิ่งไปกว่านั้นคุณจะได้ข้อมูลเชิงลึกและความคิดเห็นจากเครือข่ายของคุณด้วย
    โดยธรรมชาติแล้วเราแต่ละคนมีข้อจำกัดเรื่องความสามารถในการเรียนรู้และรับรู้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และเราสามารถเพิ่มขีดความรู้และมุมมองได้หลายเท่าด้วยการฝึกฝนและเชื่อมต่อกับเครือข่ายของเพื่อนและเพื่อนร่วมงานของเรา ซึ่งแต่ละคนจะมีประสบการณ์และมุมมองของตนเอง ตัวอย่างเช่น CEO คนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อเขาเจอปัญหาหรือเรื่องที่ซับซ้อน สิ่งแรกที่เขาทำคือการติดต่อพูดคุยกับคนที่เขาให้การยอมรับนับถือและให้ความคิดเห็นที่มีคุณค่า และมีประสบการณ์ที่แตกต่างจากตัวเขา สิ่งที่ต้องการรู้ก็คือ คนเหล่านั้นมีมุมมองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร หรือใครคือคนที่ต้องไปคุยด้วย ซึ่งสิ่งที่ CEO คนนี้คาดหวังไว้นั้นไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นการรับรู้ถึงมุมมองของผู้อื่นและมองหาแหล่งที่มาเหล่านี้
  6. ถอยห่างออกมาเพื่อมุมมองที่กว้างขึ้น
    ผู้นำมักติดอยู่กับความท้าทายที่เผชิญอยู่ และการที่ติดอยู่ตรงนี้นานเกินไปทำให้มุมมองไม่กว้างมากพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นการถอยออกมาจากสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ จะช่วยให้เห็นมุมมองที่แตกต่างและกว้างขึ้น จากหนังสือ The Practice of Adaptive Leadership ของ Ron Heifetz, Marty Linksy, และ Alexander Grashow ช่วยให้เรามีมุมมองกว้างและเป็นระบบในการจัดการกับปัญหา และสามารถค้นพบข้อสันนิษฐานที่มองไม่เห็นได้ โดยการมองจากมุมสูงนั้นช่วยให้เห็นถึง ปัจจัยที่สัมพันธ์กันและรูปแบบที่สังเกตได้ ซึ่งอาจเผยให้เห็นถึงอุปสรรคที่คาดไม่ถึงและเผยถึงแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ  ซึ่งมุมมองที่เป็นองค์รวมนี้ช่วยเราให้สามารถปรับตัวและแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น

บทสรุป

ในฐานะผู้นำ เราไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน และความซับซ้อนที่เราเผชิญได้ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์ข้างต้นสามารถพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ เติบโต และนำทางไปสู่การรับมือกับความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของโลกของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังสร้างความไม่แน่นอน ณ ขณะนี้

happily.ai

เอกสารอ้างอิง

[1] https://hbr.org/2021/04/6-strategies-for-leading-through-uncertainty

[2] https://hbr.org/2021/12/our-favorite-management-tips-of-2021

[3] Business photo created by creativeart - www.freepik.com

Share this post