วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) คืออะไร ?

เมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมองค์กรหลายคงมีความเข้าใจอันดีและอีกหลายคนยังคงมีคำถามว่าสิ่งนี้คืออะไรกันแน่ แล้วสิ่งนี้มีความแตกต่างหรือเกี่ยวข้องกับค่านิยมองค์กรอย่างไร
วัฒนธรรมองค์กรจากคํานิยามของ Louis (1985) คือชุดของความเข้าใจหรือความหมายที่ถูกแชร์กันในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนและมีลักษณะเฉพาะต่อกลุ่มนั้น ๆ และถูกถ่ายทอดไปยังสมาชิกใหม่ของกลุ่ม หรืออาจกล่าวให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นได้ว่า วัฒนธรรมองค์กรอธิบายถึงสภาพแวดล้อมการทำงานของออฟฟิศ, แผนก, หรือของหน่วยงานนั้น โดยหลาย ๆ องค์กรส่งเสริมวัฒนธรรมให้แข็งแรงด้วยการช่วยให้พนักงานรับรู้ถึงการสนับสนุน การมีคุณค่า และการมีแรงบันดาลใจในการทำงาน และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมองค์กรได้แก่ ผู้นำองค์กร, ความสมดุลในชีวิตการทำงาน, การชื่นชมยินดี, การรวมกันเป็นกลุ่ม, และความเท่าเทียม

ค่านิยมองค์กร (Core Values) คืออะไร ?

ค่านิยมองค์กร เป็นแนวทางที่ช่วยในการตัดสินใจ, การดำเนินการและพฤติกรรมของคนในองค์กร องค์กรสร้างชุดค่านิยมองค์กรขึ้นมาเพื่อที่จะบอกกับผู้นำ, พนักงานในองค์กร, และลูกค้าถึงความเชื่อ, คำมั่นสัญญา, และลำดับความสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ในองค์กร โดยที่ค่านิยมเหล่านี้จะมีผลโดยตรงต่อวัฒนธรรมองค์กรเพราะว่าค่านิยมองค์กรเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดรูปแบบวัฒนธรรมองค์กร ช่วยส่งเสริมวิสัยทัศน์และส่งเสริมอัตลักษณ์ขององค์กร และชุดค่านิยมองค์กรนี้เองที่ช่วยให้องค์กรสื่อสารเป้าหมายและช่วยให้ผู้นำและพนักงานเข้าใจแรงจูงใจเบื้องหลังของการตัดสินใจที่เกิดขึ้นภายในองค์กร

แล้ววัฒนธรรมองค์กรและค่านิยมองค์กรแตกต่างกันอย่างไร ?

เนื่องจากวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรส่งผลต่อการดำเนินการทางธุรกิจในมุมที่แตกต่างกัน โดยที่ทั้งสองมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น โดยบ่อยครั้งที่องค์กรมักจะมองเห็นประโยชน์จากการมีวัฒนธรรมที่สร้างและทำตามค่านิยมองค์กร และการให้พนักงานในทุกระดับทำตามค่านิยมและการปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กรนี้ทำให้องค์กรพัฒนาความน่าเชื่อถือขององค์กรควบคู่ไปกับความสุขและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ในทางธุรกิจ วัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรแสดงถึงมุมมองที่สำคัญที่สามารถส่งผลต่อความสำเร็จ Productivity และมุมมองของบุคคลภายนอกที่มีต่อองค์กร

วัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรจะมีความแตกต่างกัน โดยพิจารณาด้านผลกระทบ, ด้านระยะเวลาดำเนินการ, และด้านประโยชน์ที่ได้รับ ดังนี้

ด้านผลกระทบ - วัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรส่งผลอย่างมากต่อองค์กรและคนในองค์กรแต่มีขอบเขตของอิทธิพลแตกต่างกัน ค่านิยมองค์กรบอกถึงวัฒนธรรม และปกติแล้วผู้นำองค์กรหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรจะให้พนักงานปฏิบัติตามค่านิยมองค์กรในทุก ๆ กิจกรรมขององค์กร ความมุ่งมั่นในการยึดถือและปฏิบัติตามค่านิยมในองค์กรของพนักงานมีอิทธิพลมากกว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานเสียอีก ซึ่งสิ่งนี้สามารถส่งผลต่อวิธีที่ลูกค้า, คู่แข่ง, และคู่ค้ามององค์กรของเรา และผลกระทบของค่านิยมองค์กรนี้มาจากผู้นำองค์กรและความสามารถในการสร้างค่านิยมองค์กรให้กับธุรกิจ
ในขณะที่วัฒนธรรมองค์กรได้รับอิทธิพลมาจากผู้นำองค์กร แต่มักจะเกิดขึ้นในระดับพนักงาน ซึ่งแต่ละคนในองค์กรมีส่วนร่วมให้เกิดวัฒนธรรม เมื่อผู้นำองค์กรส่งเสริมค่านิยมขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และทุกคนในองค์กรมีความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ตั้งใจที่สะท้อนถึงค่านิยมขององค์กรได้

ด้านระยะการดำเนินการ - อีกมุมหนึ่งที่มีความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมกับค่านิยมองค์กรคือระยะเวลาในการดำเนินการ วัฒนธรรมใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลง และบ่อยครั้งที่องค์กรต้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรต้องทำการประเมินประสิทธิภาพสิ่งต่าง ๆ ในองค์กรได้แก่ ประสิทธิภาพของผู้นำ ความมุ่งมั่นที่มีต่อพนักงาน และความสำเร็จขององค์กร การระบุถึงสิ่งที่ไม่ส่งผลเชิงบวกต่อวัฒนธรรม และการพัฒนากลยุทธ์เพื่อปรับปรุงวัฒนธรรมอาจต้องใช้เวลา ใช้การประเมินอย่างละเอียด และใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นอย่างมาก
หากต้องการเปลี่ยนแปลงค่านิยมองค์กร บริษัทอาจประกาศมาตรฐานใหม่สำหรับการตัดสินใจและขั้นตอนทางธุรกิจ องค์กรสามารถเริ่มดำเนินการใช้ค่านิยมใหม่ได้อย่างทันทีทันใด โดยใช้ค่านิยมเหล่านี้ในการบอกถึงมุมมองที่ต่างกันของการทำงานและการลำดับความสำคัญของงานหรือเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร แต่อาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งก่อนที่ผลของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะสะท้อนออกมาในวัฒนธรรมองค์กร

ด้านประโยชน์ - ทั้งวัฒนธรรมและค่านิยมต่างมีประโยชน์ต่อองค์กรเมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจและเอาใจใส่ ด้วยการส่งเสริมค่านิยมที่พนักงานต่างเห็นพ้องต้องกันจะทำให้องค์กรสามารถมีอิทธิพลต่อความน่าเชื่อถือและความเคารพต่อองค์กรของพนักงาน การสร้างค่านิยมหรือให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ  เช่น ความเท่าเทียม, ความหลากหลาย, และเปิดรับความแตกต่าง (DEI) การทำงานเป็นทีม การทำงานหนัก ความพึงพอใจของลูกค้า และผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ สามารถทำให้ธุรกิจไปทิศทางเดียวกับขั้นตอนการทำงานและหน้าที่เป็นหนึ่งเดียวกันได้ เมื่อทุกคนรู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ องค์กรจะสามารถเพิ่มโอกาสในการนำค่านิยมไปปฏิบัติได้สำเร็จ
วัฒนธรรมเชิงบวกมีข้อดีมากมาย องค์กรที่มีวัฒนธรรมที่แข็งแรงสามารถเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน การรักษาพนักงานและลูกค้า และเพิ่ม Productivity ของพนักงานด้วย องค์กรที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมสามารถสร้างชื่อเสียงในฐานะนายจ้างที่ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ สามารถดึงดูดผู้สมัครที่มีคุณสมบัติที่ต้องการ และปรับปรุงความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าได้

7 เคล็ดลับการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร

ถ้าองค์กรของคุณต้องการที่จะสร้างและพัฒนาค่านิยมองค์กรเชิงบวกและวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืน จากบทความของทีมงาน Indeed ได้นำเสนอ 7 เคล็ดลับที่ผู้นำองค์กรหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรสามารถนำไปปฏิบัติได้ดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมาย
    ในการสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร การกำหนดและรู้ถึงเป้าหมายเป็นขั้นตอนแรกที่ต้องคำนึงถึง เพราะเมื่อรู้ถึงเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วเราสามารถมองย้อนกลับไปว่าค่านิยมใดที่สนับสนุนในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้องค์กรไปถึงเป้าหมายเหล่านี้ได้ สำหรับองค์กรใหม่ที่สามารถสร้างหรือกำหนดค่านิยมองค์กรได้อย่างรวดเร็วแล้วสิ่งนี้จะช่วยให้องค์กรเป็นปึกแผ่นหรือหนึ่งเดียวกันได้ ส่วนองค์กรที่ต้องการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรต้องกำหนดหรือสร้างค่านิยมที่สอดคล้องกันขึ้นมา
  2. สื่อสารกับคนในองค์กร
    การสื่อสารเป็นหัวใจหลักของการดำเนินการต่าง ๆ ในองค์กร ซึ่งองค์กรต้องมั่นใจได้ว่าทุกคนในองค์กรมีความรู้ความเข้าใจและเชื่อในค่านิยมองค์กร ซึ่งการสื่อสารนี้รวมไปถึงการบอกถึงเหตุผลว่าค่านิยมเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไรและทำไมเราต้องทำตาม และถ้าคุณสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วจะช่วยให้ทีมของคุณช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่มีร่วมกันได้เป็นอย่างดี และการสื่อสารแบบเปิดใจกันก็จะช่วยให้พนักงานมีความรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในการที่จะบอกถึงความกังวลของพวกเขา และการที่องค์กรหรือผู้นำมีความจริงจังในการดำเนินการเกี่ยวกับความกังวลต่าง ๆ ของพนักงานจะทำให้ทุกคนเห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญอย่างมากกับการรักษาให้วัฒนธรรมแข็งแรงอยู่เสมอ
  3. ค้นคว้าหาข้อมูล
    การค้นคว้าหาข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างของความสำเร็จในการสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร โดยสามารถศึกษาได้จากหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจต่าง ๆ ที่ช่วยให้เรียนรู้เครื่องมือในการบริหารจัดการ กลยุทธ์ที่ช่วยรักษาค่านิยมให้อยู่กับองค์กร และวิธีการที่ช่วยให้เกิดการสื่อสารในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และการค้นคว้าแนวทางการปฏิบัติ และพฤติกรรมนี้จะส่งผลต่อความสามารถในการรวมกันระหว่างกลยุทธ์ทางธุรกิจและความคาดหวังเรื่องวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร
  4. ทำงานร่วมกัน
    การทำงานร่วมกันของกลุ่มหรือทีมผู้นำในองค์กรในการทำให้เป้าหมายขององค์กรรวมเป็นหนึ่งเดียวกับค่านิยมที่แชร์กันในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเมื่อพิจารณาจากการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อกำหนดค่านิยมขององค์กร สิ่งนี้ทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมและแน่ใจได้ว่าพวกเขาพร้อมจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดค่านิยมเหล่านี้ในองค์กรและก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การบริหารของผู้นำแต่ละคนด้วย ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าค่านิยมองค์กรเองก็เกิดจากค่านิยมที่แต่ละคนในองค์กรแสดงออกมา ดังนั้นด้วยความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้นำทุกระดับในองค์กรจะสามารถทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่สอดคล้องกับค่านิยมได้ง่ายยิ่งขึ้น และก็เช่นเดียวกันกับการสร้างและรักษาวัฒนธรรมที่แข็งแรงให้ยั่งยืนในองค์กรที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในองค์กรโดยเฉพาะบรรดาผู้นำ
  5. รับฟังฟีดแบ็กหรือความคิดเห็น
    การรับฟังฟีดแบ็กหรือความคิดเห็นของพนักงานช่วยให้องค์กรได้รู้ถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่ได้ โดยสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่นแบบสอบถามช่วยให้รู้ว่าพนักงานรู้สึกอย่างไรต่อค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร เรียนรู้ว่าองค์กรทำอะไรได้ดีแล้วในการแสดงค่านิยมองค์กรผ่านการปฏิบัติของพนักงาน และถามพนักงานว่าพวกเขาคิดว่าวัฒนธรรมองค์กรของเราแข็งแรงดีแล้วหรือยัง และถ้าคุณพบว่าคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายขององค์กร คุณก็สามารถนำฟีดแบ็กที่ได้รับมาแก้ไขปรับปรุงโดยการออกแบบกลยุทธ์ที่ทำให้ค่านิยมองค์กรสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรอย่างเหมาะสมต่อไป
  6. ทำให้เป็นเรื่องประจำและสม่ำเสมอ
    สิ่งนี้เป็นหัวใจหลักในการสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรเลยก็ว่าได้ เพราะการที่จะสร้างหรือปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรนี้ต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการเข้าใจถึงค่านิยมองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมนั้น ๆ  ด้วยการยึดมั่นกับเป้าหมายและการสื่อสารความสำเร็จในการมีค่านิยมและวัฒนธรรมที่แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ คุณสามารถช่วยองค์กรให้มีค่านิยมและส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมที่แข็งแรงในระยะยาวได้ ตัวอย่างเช่นการพิจารณาให้ค่าตอบแทนหรือคำชื่นชมสำหรับผู้ที่ทำตามค่านิยมหรือสำหรับผู้ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับวัฒนธรรมองค์กร พยายามส่งเสริมให้พนักงานชื่นชมยอมรับซึ่งกันและกันเมื่อเพื่อนร่วมงานทำตามค่านิยมและมีส่วนช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมให้แข็งแรง
  7. นำด้วยการทำเป็นตัวอย่าง
    ทีมผู้นำในองค์กรสามารถช่วยสื่อสารเรื่องค่านิยมและส่งเสริมวัฒนธรรมที่องค์กรต้องการและสอดคล้องกับเป้าหมายได้ด้วยการสนับสนุนให้ผู้นำใช้ค่านิยมองค์กรในกระบวนการตัดสินใจและรูปแบบการบริหารของตนเอง รวมไปถึงการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมและคุณลักษณะที่ต้องการให้เป็นที่รู้กันทั่วองค์กรด้วยการมีแบบอย่างอันทรงพลังสำหรับพนักงานในองค์กร

เรียนรู้เพิ่มเติม: สุดยอดคู่มือวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร

ตัวอย่างของวัฒนธรรมองค์กร

  1. วัฒนธรรมสนับสนุนเกื้อกูลกัน
    หรือวัฒนธรรมที่นึกถึงทีมเป็นสิ่งแรก เป็นวัฒนธรรมที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยกระดับพนักงานและเห็นคุณค่าในตัวของพวกเขา โดยสิ่งที่ช่วยทำให้เกิดวัฒนธรรมที่สนับสนุนเกื้อกูลกันก็คือ กิจกรรมการสร้างทีม, โปรแกรมให้ค่าตอบแทนหรือรางวัล, และช่องทางสำหรับการสื่อสารแบบเปิดใจกัน
  2. วัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
    วัฒนธรรมแบบดั้งเดิมหรือแบบเก่านี้จะส่งเสริมเรื่องลำดับชั้นและความเป็นอุดมคติ และบ่อยครั้งที่วัฒนธรรมแบบนี้จะไม่ชอบเรื่องความเสี่ยงและมีวิธีการบริหารจัดการและกลยุทธ์ที่เน้นการปฏิบัติเป็นหลัก
  3. วัฒนธรรมกลุ่มหัวกะทิ
    วัฒนธรรมนี้ส่งเสริมเรื่องความสมบูรณ์แบบ นวัตกรรม และความยอดเยี่ยม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีการแข่งขันสูงและมุ่งเน้นเรื่องการทำให้ประสิทธิผลการทำงานสูงสุด

ตัวอย่างค่านิยมองค์กรที่นิยมกัน โดยที่องค์กรอาจลองสนับสนุน

  1. การทำงานเป็นทีม
    การทำงานเป็นทีมที่ดีช่วยให้องค์กรไปถึงเป้าหมายและทำให้ทุกคนมีทิศทางเดียวกันกับวิสัยทัศน์ที่มีต่อความสำเร็จขององค์กร และสิ่งนี้มีค่าต่อการสร้างชุมชนดี ๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กร
  2. การสื่อสาร
    การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพช่วยการทำงานในทีม ซึ่งผู้นำสามารถบอกถึงเป้าหมายขององค์กรและพนักงานมีความเข้าใจความคาดหวังในเรื่องนี้การเติบโต
    การให้คุณค่าผลิตผลการทำงานและการเติบโตนั้นจะเน้นย้ำเรื่องผลลัพธ์ทางธุรกิจและการพัฒนาความสามารถ ความพยายามและทักษะของพนักงานแต่ละคน
  3. การเติบโต
    การให้คุณค่าผลิตผลการทำงานและการเติบโตนั้นจะเน้นย้ำเรื่องผลลัพธ์ทางธุรกิจและการพัฒนาความสามารถ ความพยายามและทักษะของพนักงานแต่ละคน

บทสรุป

ทั้งวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรมีความสำคัญอย่างมากต่อองค์กรและบุคคลในองค์กรไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความผูกพันต่อองค์กรหรือ Employee Engagement, เพิ่ม Productivity, รักษาลูกค้าและพนักงานที่มีความสามารถหรือ Talent ในองค์กร, และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่ทั้งวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรมีความแตกต่างกันทั้งในด้านผลกระทบ ด้านระยะเวลาในการดำเนินการ และด้านประโยชน์ที่ได้รับ แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองสิ่งนี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะเมื่อองค์กรต้องการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนเป้าหมายขององค์กรแล้วนั้น การขับเคลื่อนองค์กรด้วยค่านิยมที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ต้องการเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ

เอกสารอ้างอิง

[1] https://core.ac.uk/download/pdf/38903722.pdf

[2] https://www.indeed.com/career-advice/career-development/culture-vs-values

[3] Background photo created by freepik - www.freepik.com

Share this post